1. ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทน หรือบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้เสมือนดังว่าเป็นความผิดของตนเอง
2. มีหนี้บางประเภทที่เจ้าหนี้บังคับชำระ โดยเฉพาะเจาะจงได้
ส่วนหนี้บางประเภทบังคับชำระโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้
3. เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่บังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงหรือไม่ก็ได้
เจ้าหนี้มีสิทธิที่บังคับชำระหนี้ได้เฉพาะเจาะจงหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเลยก็ได้
4. การเรียกเอาค่าเสียหายคือการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย
เช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้
5. กรณีที่เจ้าหนี้มีส่วนในการกระทำความผิด
ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้มากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ
ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด
6. การที่เจ้าหนี้ไม่เตือนลูกหนี้ถึงอันตรายแห่งการเสียหายอย่างร้ายแรงผิดปกติ
หรือละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายได้ถือเป็นความผิดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้ซึ่งจะต้องเฉลี่ยความรับผิดกับเจ้าหนี้ด้วย
1.1 ความรับผิดชอบของลูกหนี้เพื่อคนที่ให้ชำระหนี้
1. ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนของตนและของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้
2. ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบแม้กระทั่งเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตัวแทนของตนหรือของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้
หากมีข้อตกลงที่ทำกันไว้ล่วงหน้า
1.1.1 ขอบเขตของตัวแทนและผู้ที่ใช้ชำระหนี้
มาตรา 220 บัญญัติว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตน
กับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้โดยขนาดเสมอกันว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้นท่านเข้าใจอย่างไรให้อธิบาย
กรณีใดก็ตามที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบเพราะพฤติการณ์ที่จะโทษลูกหนี้ได้แล้ว
หากลูกหนี้ได้ใช้คนอื่นทำแทน
ความผิดของผู้ที่ลูกหนี้ใช้นั้นก็เสมอกับเป็นความผิดของตนเอง
ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมาตรา 314 บัญญัติให้บุคคลภายนอกทำการชำระหนี้ได้
คำว่าตัวแทนนั้นมีความหมายตามที่มาตรา 797 บัญญัติไว้ว่า อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น
คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทนมีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า
ตัวการ และตกลงจะทำการดังนั้น อันความเป็นตัวแทนนั้น จะเป็นโดยแต่งตั้ง แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมทำได้
ตัวแทนของลูกหนี้ตามมาตรา 220 นั้น จะต้องเป็นตัวแทนของลูกหนี้ในการไปชำระหนี้
ถ้าไม่ได้เป็นตัวแทนในการชำระหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่ต้องรับผิด
ส่วนบุคคลที่ใช้ในการชำระหนี้นั้นจะเป็นบุคคลใดๆ ก็ได้ไม่จำกัด
แต่มีหนี้บางประเภทที่ตั้งตัวแทนหรือใช้ให้บุคคลอื่นไปชำระหนี้แทนไม่ได้
ลูกหนี้จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยตนเอง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความไว้วางใจ
หรือต้องการคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว เช่นจ้างช่างมาวาดภาพ จ้างนักร้องมาร้องแพลง
เป็นต้น
1.1.2 พฤติการณ์ที่ตัวแทนและผู้ที่ใช้ในการชำระหนี้จะต้องรับผิด
และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตัวแทน
หรือของผู้ที่ใช้ในการชำระหนี้
1. นายแดงทำสัญญาขายแร่ดีบุก 500 ตัน ให้แก่นายดำ
โดยมีข้อสัญญาว่านายแดงจะต้องส่งมอบแร่ดีบุกซึ่งอยู่จังหวัดภูเก็ตให้แก่นายดำที่กรุงเทพฯ
ในสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างคนทั้งสองมีข้อตกลงกันว่า
นายแดงจะจ้างนายเขียวเป็นผู้ขนส่งแร่ดีบุกให้แก่นายดำตามสัญญา
และยังตกลงกันไว้ด้วยว่า ถ้ามีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นแก่แร่ดีบุกที่ซื้อขายกัน
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะการกระทำของนายแดงหรือของนายเขียว แล้วนายแดงจะไม่รับผิดชอบต่อนายดำทั้งสิ้น
ปรากฏว่านายดำไม่ได้รับแร่ดีบุกจากนายแดงตามสัญญา
เพราะนายเขียวขายแร่ดีบุกที่ขนมาให้แก่นายขาวแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเสียประการหนึ่ง
หรือมากเพียงขายแร่ดีบุกให้แก่นายเหลืองตามคำสั่งของนายแดงอีกประการหนึ่ง
ทั้งสองประการนี้นายดำจะฟ้องเรียกค่าสินไมทดแทนจากนายแดงอีกประการหนึ่ง
ทั้งสองประการนี้นายดำจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่การกระทำของนายเขียวได้หรือไม่เพราะเหตุใด
ตามหลักทั่วไปในมาตรา 220
ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนหรือของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้โดยขนาดเสมอกันว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น
และถ้าเจ้าหนี้ลูกหนี้ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
เป็นข้อยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตัวแทนหรือบุคคลที่ลูกหนี้ใช้ในการชำระหนี้
ก็ทำได้แต่ถ้าเป็นข้อตกลงยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้นย่อมทำไม่ได้
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะตามมาตรา 373
ตามอุทาหรณ์ข้อตกลงในสัญญาซื้อขายระหว่างนายแดงเจ้าหนี้
นายดำลูกหนี้ เฉพาะข้อที่ว่าถ้ามีความเสียหายใดๆเกิดขึ้นแก่แร่ดีบุก เพราะการกระทำของนายแดงลูกหนี้จึงเป็นโมฆะใช้ไม่ได้
ตามมาตรา 373
เพราะข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นมิให้นายแดงลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลของตน
ในการที่นายแดงสั่งให้นายเขียวขายแร่ดีบุกให้นายเหลือง
นายแดงลูกหนี้ยังต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายดำเจ้าหนี้ในการที่นายดำไม่ได้รับแร่ดีบุก
สัญญาส่วนที่ว่า ถ้ามีความเสียหายใดๆเกิดแก่แร่ดีบุก
เพราะการกระทำของนายเขียวแล้ว นายแดงจะไม่รับผิดชอบต่อนายดำนั้นมีผลใช้บังคับได้
เพราะลูกหนี้ตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ล่วงหน้าได้ว่าลูกหนี้จะไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนหรือบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้ตามมาตรา
220
นายดำจึงฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่นายเขียวขายแร่ดีบุกโดยพละการหรือกลฉ้อฉลของนายเขียวเองไม่ได้
2. นายเขียวขายรถยนต์ของตนให้นายขาวเมื่อชำระเงินกันเรียบร้อยแล้ว
นายเขียวจะเอารถยนต์ไปส่งมอบให้ที่บ้านนายขาวในวันรุ่งขึ้น
รุ่งเช้านายเขียวใช้ให้นายขำขับรถของตนเอาไปส่งที่บ้านของนายขาว
โดยนายขาวได้กำชับให้นายขำว่าต้องขับรถยนต์คันนี้ไปส่งให้แก่นายขาวให้เรียบร้อย
และนายเขียวยังกล่าวต่อไปอีกว่าถ้ามีกรณีใดๆเกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้นายขาวไม่ได้ขับรถยนต์ตามที่ตกลงกันไว้
นายขำจะต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว โดยที่นายเขียวจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
นายขำก็ตกลง ในระหว่างทางที่นายขำขับรถยนต์ไปเพื่อส่งมอบให้แก่นายขาวนั่นเอง นายขำได้แอบนำรถยนต์คันนี้ไปขายให้แก่นายขม
แล้วเอาเงินที่ได้หลบหนีไปโดยนายเขียวมิได้รู้เห็นด้วยเลย
ดังนี้
นายเขียวจะต้องรับผิดชอบต่อนายขาวในกรณีที่นายขาวไม่ได้รับมอบรถยนต์คันนี้หรือไม่เพราะเหตุใด
ตามอุทาหรณ์เป็นเรื่องความรับผิดของลูกหนี้
เพื่อบุคคลที่ลูกหนี้ใช้ในการชำระหนี้ ซึ่งมาตรา 220 บัญญัติว่า “ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น
แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 373 หาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่”
นายเขียวเป็นลูกหนี้นายขาวในอันที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ที่ซื้อขายกันให้แก่นายขาวผู้ซื้อแต่นายเขียวไม่ได้ใช้นายขำทำการชำระหนี้แทน
ซึ่งนายเขียวจะต้องรับผิดชอบในความผิดของนายขำที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกันว่าเป็นความผิดของตนเอง
แต่นายเขียวและนายขาวสามารถทำความตกลงไว้ล่วงหน้าเป็นข้อยกเว้นมิให้นายเขียวต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายขำซึ่งเป็นบุคคลที่นายเขียวใช้ในการชำระหนี้ได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อตกลงดังกล่าว
จะต้องเป็นข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กัลป์ปบลูกหนี้คือ นายเขียวกับนายขาวเท่านั้น
ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดชอบดังกล่าวจึงจะใช้บังคับได้
แต่ตามอุทาหรณ์ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของนายเขียว เป็นข้อตกลงระหว่างนายเขียวกับนายขำ
คือลูกหนี้กับบุคคลที่ลูกหนี้ที่ใช้ในการชำระหนี้
ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดชอบของนายเขียวดังกล่าวนี้เป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้
ดังนั้นนายขำได้แอบนำรถยนต์ไปขายให้แก่นายขม
แล้วเอาเงินที่ขายได้หลบหนีไปโดยที่นายเขียวมิได้รู้เห็นด้วยนั้น ไม่ทำให้นายเขียวหลุดพ้นจากความรับผิดต่อนายขาวได้
นายเขียวจึงต้องรับผิดต่อนายขาว ในกรณีที่นายขาวไม่ได้รับรถยนต์ตามสัญญา
1.2 การบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจง
1. ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้
เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ได้
2. เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้
เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลสั่ง บังคับให้บุคคล
ภายนอกกระทำการโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย
ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด
3. ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้ทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้
4. ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด
เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอน
การที่ได้กระทำลงโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อการภายหน้าได้ด้วย
5. เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนก็ได้
6. เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงและเรียกค่าสินไหมทดแทนในคราวเดียวกันก็ได้
1.2.1 ความหมายของการบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจง
การบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงหมายความว่าอย่างไร
มาตรา 213 บัญญัติเป็นหลักทั่วไปว่าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
เจ้าหนี้บังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
หมายความว่าเป็นหนี้กันอยู่อย่างไรก็บังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้อย่างนั้นได้
ทั้งนี้ก็เพราะบุคคลใดก่อหนี้ขึ้น ก็ประสงค์จะได้สิ่งที่ตนต้องการ เช่น
อยากได้รถยนต์ก็ทำสัญญาซื้อรถยนต์ ถ้าลูกหนี้ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ก็มีวิธีการบังคับให้ลูกหนี้ส่งมอบรถยนต์ให้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตนต้องการ
ส่วนวิธีการที่จะใช้เจ้าหนี้ได้รับตามสิทธิดังกล่าวนั้นมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
กรณีที่จะบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงได้นั้น
สภาพแห่งหนี้จะต้องเปิดช่องว่างให้บังคับกันได้ ถ้าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องว่างให้บังคับได้แล้ว
เจ้าหนี้จะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้
ทั้งนี้เพราะหนี้เป็นบุคคลสิทธิเป็นสิทธิเหนือบุคคลจะบังคับเอาแก่ตัวตนของลูกหนี้ไม่ได้
เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะแต่ทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น เช่น ก.
รับจ้างเขียนรูปภาพให้ ข. ด้วยฝีมือของตนเอง ก. ผิดสัญญาไม่เขียนรูปภาพให้ ข. ข.
จะร้องขอต่อศาลขอให้บังคับ ก. เขียนรูปภาพให้แก่ตนไม่ได้
เพราะเป็นการบังคับเอาแก่ตัวตนของลูกหนี้
นอกจากนี้สภาพแห่งหนี้ต้องไม่พ้นวิสัยที่ลูกหนี้จะชำระหนี้ได้
ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่ลูกหนี้จะชำระหนี้ได้แล้ว
เจ้าหนี้ขอให้ศาลบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้
เช่นแดงยืมถ้วยลายครามของดำไปแล้วทำแตก
ดำจะร้องต่อศาลบังคับให้แดงคืนถ้วยลายครามของตนไม่ได้
ดำได้แต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายแทน
หนี้เงินหรือหนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการส่งมอบทรัพย์สิน
เจ้าหนี้ย่อมขอให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงได้เสมอ
เพราะเป็นการบังคับเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้ที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำ
หรืองดเว้นการกระทำ ตามหลักทั่วไปแล้ว
สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้โดยเฉพาะเจาะจงได้
เพราะเป็นการบังคับเอาแก่ตัวลูกหนี้
1.2.2 กรณีที่บังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้
มีกรณีใดบ้างที่เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้
เจ้าหนี้มีสิทธิที่บังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงได้
คือเป็นหนี้กันอย่างไรก็บังคับเอากันอย่างนั้น
ซึ่งเป็นการบังคับเอาตามวัตถุประสงค์แห่งหนี้ แต่มีข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้ไม่อาจที่จะบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงได้คือ
1) สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับกันได้
ซึ่งมาตรา 213 วรรค 1 บัญญัติเป็นหลักไว้ว่า “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาล
ให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้”
เรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับกันได้นั้นเป็นการพิจารณาตามสภาพแห่งหนี้
ซึ่งหมายความว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องทำเองเฉพาะตัว จะให้คนอื่นทำแทนไม่ได้
เช่น จ้างให้ร้องเพลง จ้างให้วาดภาพ
เป็นเรื่องว่าจ้างเกี่ยวกับความสามารถเฉพาะตัวของลูกหนี้
ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ไปร้องเพลงตามวันเวลากำหนด หรือไม่ยอมวาดภาพให้
ไม่มีวิธีการใดจะบังคับให้ทำได้ เพราะจะเป็นการบังคับจิตใจลูกหนี้ให้ทำงาน
ผลงานที่ออกมาจะไม่ดีตามความประสงค์ของเจ้าหนี้
2) บังคับชำระหนี้ที่กลายเป็นพ้นวิสัยแล้วไม่ได้
การบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงจะทำได้ก็ต่อเมื่อหนี้ยังเป็นวิสัยที่จะทำได้
ถ้าหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะชำระหนี้ได้เสียแล้ว
ก็ย่อมจะบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์แห่งหนี้ไม่มีแล้ว
เช่น ซื้อขายม้า แต่ม้าที่ส่งมอบให้เจ้าหนี้ได้ตายไปแล้ว ก็ไม่มีม้าที่จะส่งมอบ
จะมาบังคับให้ส่งมอบม้าไม่ได้
1.2.3 การใช้สิทธิบังคับชำระหนี้และการบังคับชำระหนี้โดยค่าสินไหมทดแทน
1. เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงได้
กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ การบังคับชำระหนี้ไว้อย่างไร
เมื่อสภาพแห่งนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงได้
กฎหมายมาตรา 213 วรรค 2 และ 3 ได้บัญญัติวางหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้ไว้ว่า “เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้
ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใดเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้
แต่ถ้าวัตถุแห่งนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้
ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้
ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด
เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย
และให้จัดการอันควรเพื่อการภายหน้าด้วยก็ได้”
1) เมื่อวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำ
ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ จะไปบังคับตัวตนของลูกหนี้ให้กระทำไม่ได้
เพราะเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายของบุคคล
สภาพแห่งหนี้ที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำไม่เปิดช่องให้ทำได้ แต่กฎหมายได้หาทางออกให้กับเจ้าหนี้
เมื่อบังคับตัวลูกหนี้ไม่ได้
ก็ให้บุคคลอื่นทำแทนโดยให้ลูกหนี้เป็นคนออกค่าใช้จ่าย เช่น
ลูกหนี้ปลูกโรงเรือนรุกล้ำออกไป ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมรื้อถอน
เจ้าหนี้ฟ้องศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลอื่นทำการรื้อถอนโดยให้ลูกหนี้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนได้
ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมออกค่าใช้จ่าย
ก็ขอให้ศาลออกหมายบังคับยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระค่าใช้จ่ายได้
บุคคลภายนอกนี้จะเป็นเจ้าหนี้เองหรือบุคคลใดก็ได้ซึ่งไม่ใช่ตัวลูกหนี้
2) เมื่อวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้ทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น ซื้อขายที่ดิน ผู้ขายไม่ยอมไปโอนที่ดินที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อ
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะฟ้องร้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ขายซึ่งเป็นลูกหนี้ไปทำนิติกรรมโอนที่ดินให้เจ้าหนี้ได้
ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมไปโอนให้ก็ขอให้ศาลพิพากษาว่า ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำนิติกรรมโอนที่ดินให้แก่เจ้าหนี้ได้
3) เมื่อวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้งดเว้นการกระทำ
เป็นเรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ประการหนึ่ง
แต่หนี้ที่จะชำระนั้นเป็นการยกเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ต่อตนเองไม่ได้
กฎหมายก็ได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในอันที่จะฟ้องศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นผิดวัตถุแห่งหนี้
โดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย
เจ้าหนี้จะขอให้ศาลอนุญาตให้ตนเองหรือบุคคลภายนอกทำการรื้อถอนก็ได้ เช่น ก.
สัญญาจะไม่สร้างสิ่งปลุกสร้างยังบ้านของ ข. ต่อมา ข.
ผิดสัญญาโดยสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไป ข. มีสิทธิฟ้องศาลให้ ก. รื้อสิ่งปลูกสร้างได้
ถ้า ก. ไม่ยอมรื้อถอนก็ให้ศาลสั่งให้เจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นทำการรื้อถอนได้
ไม่ให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
2. เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องขอให้บังคับชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ให้อธิบาย
เรื่องการเรียกค่าเสียหายในกรณีที่เจ้าหนี้ขอบังคับชำระหนี้นั้น
มาตรา 213 วรรคสุดท้ายบัญญัติเป็นหลักไว้ว่า “อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่”
หมายความว่าการชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจง
ไม่ตัดสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนการละเลยไม่ชำระหนี้
สิทธิบังคับชำระหนี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าหนี้
คือเจ้าหนี้จะใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้ แม้ว่าเจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม
ถ้าเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้
เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายจากลูกหนี้ได้
ในกรณีที่เจ้าหนี้ขอบังคับชำระหนี้
ไม่ว่าจะขอให้ส่งมอบทรัพย์สิน ให้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำ
หรือทำนิติกรรมตามมาตรา 213 วรรค 1 2 และ 3 ก็ตาม
และการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้นั้นเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียหาย
เจ้าหนี้ก็เรียกร้องเอาค่าเสียหายได้ เช่น สัญญาซื้อขายรถยนต์
ลูกหนี้ไม่ส่งมอบตามเวลากำหนด
เจ้าหนี้ไม่มีรถยนต์ใช้ก็ต้องเช่ารถแท็กซี่ไปกลับจากที่ทำงาน
เจ้าหนี้ฟ้องขอให้บังคับให้ลูกหนี้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่เจ้าหนี้
และในเวลาเดียวกันก็จะฟ้องร้องเอาค่าเสียหายซึ่งเสียไปเพราะเช่ารถแท็กซี่ไปกลับมาที่ทำงาน
ตั้งแต่วันผิดนัดจนกว่าลูกหนี้จะส่งมอบรถยนต์ให้เจ้าหนี้ด้วยก็ได้
หรือถ้าหนี้มีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ เช่น
ปลูกสิ่งก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของเจ้าหนี้โดยไม่สุจริต
หรือมีสัญญาห้ามมิให้ปลุกสิ่งก่อสร้างในที่ดินของเจ้าหนี้
แต่เจ้าหนี้ฝ่าฝืนปลูกสร้างลงไป
ในกรณีเจ้าหนี้ฟ้องขอให้บังคับลูกหนี้ทำการรื้อถอนสิ่งปลุกสร้างโดยฝืนใจลูกหนี้ไม่ได้
เจ้าหนี้ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกทำการรื้อถอน
โดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ถ้าเจ้าหนี้พิสูจน์ได้ว่าตลอดเวลาที่ลูกหนี้ละเมิดสัญญา
เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายอย่างใดได้อีกด้วย
1.3 การบังคับชำระหนี้โดยค่าสินไหมทดแทน
1. การเรียกค่าเสียหายได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้
2. เจ้าหนี้เรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษหากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว
3. ถ้าเจ้าหนี้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ด้วยการคำนวณค่าเสียหายต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณโดยคำนึงว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนเท่ากันเพียงไร
4. เจ้าหนี้จะต้องรับผิดในความเสียหาย เพราะการละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้ถึงอันตรายแห่งการเสียหายซึ่งร้ายแรงผิดปกติ
หรือละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย
5. เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะรับชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง
1.3.1 หลักเกณฑ์ในการเรียกค่าสินไหมทดแทน
การฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนมีหลักเกณฑ์ประการใดบ้าง
การฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1) ต้องมีการไม่ชำระหนี้ มาตรา 222 วรรคแรก
บัญญัติหลักเกณฑ์สำคัญในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน คือ ต้องมีการไม่ชำระหนี้
การไม่ชำระหนี้รวมความตลอดถึงการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้คือ
ชำระหนี้ล่าช้า ผิดเวลา ผิดสถานที่ หรือวัตถุแห่งหนี้
2) ต้องมีพฤติการณ์ที่จะโทษลูกหนี้ได้ การไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้
จะเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนได้นั้นจะต้องเกิดจากพฤติการณ์ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดพฤติการณ์ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบก็คือ
ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามประสงค์แห่งหนี้ตามมาตรา 215 ลูกหนี้ผิดนัด
เป็นเหตุให้การชำระหนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ตามมาตรา 216
การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุหรือเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่ความประมาทเลินเล่อของลูกหนี้ในระหว่างที่ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา
217 และการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 218
3) ต้องมีความเสียหาย
การไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้จะเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เรียกค่าสินไหมทดแทนได้
เจ้าหนี้จะต้องเสียหายจากการไม่ชำระหนี้นั้น เช่น ก. สั่งซื้อน้ำตาลจาก ข. 1
กิโลกรัม โดย ข. จะส่งน้ำตาลให้ ก. ที่บ้าน ถึงกำหนด ข. ไม่ส่งน้ำตาลให้ ก.
แต่ส่งล่าช้าไป 2 วัน แต่ปรากฏว่าถึงแม้ ข. จะส่งให้ ก. ภายในกำหนดเวลา ก.
ก็ยังไม่มีโอกาสได้ใช้น้ำตาลของ ข. เพราะน้ำตาลเก่ายังมีเหลือใช้ประโยชน์ได้อยู่
เช่นนี้ ข. จะชำระหนี้ล่าช้า แต่ ก. ก็ไม่เสียประโยชน์ ก. จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก
ข. ไม่ได้
ความเสียหายจะต้องคำนวณเป็นเงินได้
ความเสียหายทางจิตใจที่ไม่ใช่ตัวเงินซึ่งเป็นความเสียหาย เกิดจากการไม่ชำระหนี้
เจ้าหนี้จะเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ไม่ได้
ความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้นั้น
เจ้าหนี้จะต้องพิสูจน์ว่าเสียหายเป็นเงินเท่าใด
แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลว่าเจ้าหนี้เสียหายเท่าใดแล้ว ถือว่าศาลทราบเอง
เจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์
หนี้เงินเมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้
กฎหมายถือว่าเจ้าหนี้เสียหายแล้ว
เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
โดยเจ้าหนี้ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย
ถ้าเจ้าหนี้เสียหายมากกว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง
เจ้าหนี้ก็สามารถเรียกจากลูกหนี้ได้
แต่เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์ว่าเสียหายมากกว่าเป็นเป็นจำนวนเท่าใด
ถ้าไม่พิสูจน์ก็เรียกร้องไม่ได้
ความเสียหายเพราะการไม่ชำระหนี้
แม้จะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต ถ้าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอน
เจ้าหนี้ก็เรียกร้องเอาจากลูกหนี้ได้
4) ต้องไม่มีสัญญาตัดสิทธิ ตามมาตรา 114 คู่กรณีจะตกลงทำสัญญาอย่างใดก็ได้
แม้ข้อตกลงนั้นจะผิดแผกแตกต่างกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น เจ้าหนี้ลูกหนี้ทำสัญญาตกลงกันว่า
แม้ลูกหนี้จะละเลยไม่ชำระหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียหาย
เจ้าหนี้ก็ไม่ติดใจเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากลูกหนี้ แต่ความข้อนี้มีข้อยกเว้นว่า
ข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างจากที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
1.3.2 หลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน
การละเลยไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้
ได้รับความเสียหายนั้นมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายอย่างไรบ้าง อธิบาย
หลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้
มาตรา 222 บัญญัติเป็นหลักทั่วไป ดังนี้
1) ความเสียหายต้องเป็นความเสียหาย เช่น
ที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้น
หมายความว่าค่าเสียหายธรรมดาที่คนทั่วไปรู้ว่าถ้าไม่มีการชำระหนี้แล้ว
ความเสียหายอะไรจะเกิดขึ้น เช่น ซื้อเครื่องสีข้าว
ลูกหนี้ไม่ส่งมอบเครื่องสีข้าวภายในเวลากำหนดเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ไม่มีเครื่องสีข้าวสำหรับสีข้าวขาย
ทำให้ขาดรายได้จากการสีข้าวขายวันละ 1,000 บาท
เช่นนี้เป็นความเสียหายธรรมดาที่เกิดจากการไม่ชำระหนี้
เจ้าหนี้เรียกเอาจากลูกหนี้ได้ตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันส่งมอบเครื่องสีข้าว
2) ความเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษเป็นความเสียหายที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้
เนื่องจากการไม่ชำระหนี้ ความเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษนี้จะเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ไม่ได้
เว้นแต่ลูกหนี้รู้มาก่อนล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะได้รับความเสียหายพิเศษ มาตรา 222
วรรคสอง ใช้คำว่า “คาดเห็น”
หรือ “ควรจะได้คาดเห็น”
หมายความว่าลูกหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ว่าความเสียหายจากพฤติการณ์พิเศษนั้นจะเกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้
หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เช่น ก. เช่าบ้านของ ข. เดือนละ 1,000 บาท
เมื่อหมดสัญญาเช่า ข. บอกให้ ก. ออกจากบ้านเช่าเพราะไม่ประสงค์จะให้ ก. เช่าต่อ
ไปเนื่องจากได้ทำสัญญาให้ ค. เช่าต่อจาก ก. เดือนละ 2,000 บาทซึ่งการทำสัญญาระหว่าง
ข. และ ค. นี้ ก. ก็รู้ แต่ก็ไม่ยอมออกจากบ้านเช่าตามกำหนด ข.
จึงได้รับความเสียหายเดือนละ 2,000 บาท
ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพฤติการณ์พิเศษ แต่ ก.
ก็รู้ความเสียหายนี้ล่วงหน้าแล้ว ก. จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท
ให้แก่ ข. นับตั้งแต่ผิดนัดจนกว่า ก. จะออกจากบ้านเช่า
การที่ลูกหนี้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นความเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษเนื่องจากการไม่ชำระหนี้นั้น
ลูกหนี้จะได้คาดเห็นเอง หรือเจ้าหนี้หรือบุคคลภายนอกอื่นใดบอกให้รู้ก็ได้
ความเสียหายธรรมดาหรือความเสียหายพิเศษนั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการไม่ชำระหนี้
จะเกิดจากเหตุอื่นไม่ได้ เพราะเป็นความเสียหายที่ไกลต่อเหตุ เช่น ก.
ไปซื้อเสื้อกันฝนลูกหนี้ไม่ส่งมอบเสื้อกันฝนให้ ก. ตามสัญญา ก.
ไม่มีเสื้อกันฝนใส่ออกจากบ้าน น้ำฝนเปียกทำให้เสื้อผ้าเสียหาย
เช่นนี้จะเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้ไม่ได้ เพราะเป็นความเสียหายที่ไกลต่อเหตุ
1.3.3 ความเสียหายเกิดจากผู้เสียหายเอง
ถ้าความเสียหายที่เกิดจากการได้ชำระหนี้ผู้เสียหายมีส่วนก่อให้เกิดขึ้นด้วย
มีหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าเสียหายอย่างไร
ให้อธิบายมีกรณีใดบ้างที่ถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย
มาตรา 223
ได้วางหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายในกรณีที่เจ้าหนี้หรือผู้เสียหายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ดังนี้
1) ผู้เสียหายมีส่วนทำความผิดอยู่ด้วย
ความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับเพราะลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้นั้น ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นเจ้าหนี้มีส่วนก่อให้เกิด
เจ้าหนี้จะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้จะไปเรียกเอาจากลูกหนี้ไม่ได้
ค่าเสียหายที่ฝ่ายใดจะต้องรับผิดมากน้อยเพียงใดนั้น มาตรา 223
บัญญัติว่าจะต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นประมาณ
ข้อสำคัญที่สุดต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด
ซึ่งหมายความว่าลูกหนี้ก่อให้เกิดความเสียหายเท่าใด ลูกหนี้ก็รับผิดเพียงเท่านั้น
ถ้าความผิดส่วนที่เหลือเจ้าหนี้เป็นผู้ก่อขึ้น เจ้าหนี้ต้องรับผิด
2) กรณีที่ถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยมีดังนี้
ก)
เจ้าหนี้มีส่วนเป็นผู้ก่อความเสียหายขึ้นโดยตรงตามข้อ
(1)
ข)
เจ้าหนี้มีส่วนผิดโดยละเลยไม่บอกลูกหนี้
ไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย มาตรา 223 วรรคสอง
บัญญัติให้เจ้าหนี้หรือผู้เสียหายต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้เสียหายได้ละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันร้ายแรงผิดปกติ
ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยเสียไม่บำบัดปัดป้อง
หรือบรรเทาความเสียหายนั้น
การละเลยเช่นนี้ถือเสมือนเท่ากับผู้เสียหายได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายเหมือนกัน
ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ เจ้าหนี้หรือผู้เสียหายจะเรียกร้องไม่ได้
ค)
การมีส่วนในการทำความเสียหาย
การละเลยไม่ตักเตือน การละเลยไม่บำบัดปัดป้อง
หรือไม่บรรเทาความเสียหายของตัวแทนหรือของผู้ที่เจ้าหนี้ใช้ในการชำระหนี้
ให้ถือเสมือนว่าเป็นการกระทำหรือละเลยของเจ้าหนี้เอง เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบด้วย
1.3.4 ทรัพย์สินที่จะใช้ชำระหนี้
ที่ว่า
เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงนั้นท่านเข้าใจอย่างไร
ที่ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงนั้น
หมายความว่า
1) ทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้นำมาชำระหนี้ได้
เพราะกฎหมายถือหลักว่าทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้เป็นประกันการชำระหนี้
เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้เสียหายอย่างไร มากน้อยแค่ไหน
เจ้าหนี้ฟ้องร้องเรียกเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ได้
ถ้ามีเงินก็ขอให้ยึดเงินมาชำระหนี้ ถ้าไม่มีเงินก็ขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้มาขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้
ทรัพย์สินทั้งหมดของลุกหนี้หมายความรวมถึงเงินและทรัพย์สินๆ
ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย ซึ่งเงินและทรัพย์สินดังกล่าว
แม้จะอยู่กับบุคคลภายนอกก็เป็นเงินและทรัพย์สินของลูกหนี้นั่นเอง
2) ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่จะนำมาชำระหนี้นั้น
มีความหมายตามมาตรา 99 คือเป็นทั้งวัตถุมีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง
ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์
รวมตลอดถึงสิทธิบางอย่าง
เช่นลิขสิทธิ์ซึ่งสามารถที่จะจำหน่ายจ่ายโอนนำเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้
3) ที่ว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลุกหนี้โดยสิ้นเชิงนั้น
หมายความว่าเป็นหนี้อยู่เท่าใด เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ได้เท่านั้นจะไปยึดเอาเงินหรือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้มาเป็นของเจ้าหนี้ทั้งหมดไม่ได้
ถ้ายึดเงินของลุกหนี้มาชำระหนี้แล้ว ได้เงินมายังไม่ครบจำนวนหนี้
เจ้าหนี้ก็ยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จนครบ
เมื่อได้ครบแล้วจะไปยึดมาอีกไม่ได้ ถ้าทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นทรัพย์สินมีราคามาก
เมื่อขายแล้ว เอาเงินมาชำระหนี้จนครบ ยังมีเงินเหลือ
เงินส่วนที่เหลือต้องคืนให้แก่ลูกหนี้
ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิยึดมาชำระหนี้นั้น
หมายความถึงทรัพย์ที่ลูกหนี้มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีในอนาคตด้วย
4) มีทรัพย์สินบางประเภทที่เจ้าหนี้ยึดมาชำระหนี้ไม่ได้คือ
ก)
ทรัพย์สินที่หลุดออกจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว
ข)
ทรัพย์สินต้องห้ามมิให้ยึด
เพราะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ทรัพย์สินของรัฐ
ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เช่นเครื่องนุ่งห่มหลับนอน
หรือเครื่องใช้ที่จำเป็น เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นใช้ในการประกอบอาชีพ
วัตถุหรืออุปกรณ์ที่ใช้แทนอวัยวะของลูกหนี้ ทรัพย์สินที่เป็นของส่วนตัวโดยเฉพาะ
เช่นจดหมายหรือสมุดบัญชี เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน
ค่าจ้างของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลเป็นต้น
ค)
เจ้าหนี้หลายคนอาจได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วน
เพราะเงินและทรัพย์สินของลูกหนี้มีไม่พอชำระหนี้
5) ถ้าเอาทรัพย์สินจำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี
หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้
จำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ได้ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด
ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบเงินนั้น นอกจากจะมีข้อตกลงกันว่าถ้านำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด
ได้เงินไม่พอชำระหนี้
เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอย่างอื่นของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้จนครบ
แบบประเมินผลตนเองหน่วยที่ 3
1. สี
รับจ้างทำโอ่งมังกรให้ สา 100 ใบ ทำเสร็จแล้ว สี ได้ว่าจ้างให้ สอน ขนโอ่งมังกรไปให้
สา โดยรถยนต์ ระหว่างขับรถยนต์บรรทุกโอ่งมังกรไปส่งให้ สา นั้น สอน ได้ขับรถยนต์ออกนอกเส้นทางไปบ้านสา
เพื่อไปเยี่ยม ส่อ เพื่อนของตนก่อนที่จะเอาโอ่งไปส่ง สา ระหว่างทางไปบ้าน ส่อ สอน ขับรถยนต์บรรทุกโอ่งมังกรโดยประมาทชนกับรถยนต์คันอื่นเป็นเหตุให้รถยนต์ของ
สอน คว่ำโอ่งที่บรรทุกในรถแตกเสียหายหมด ดังนี้ สี จะต้องรับผิดชอบต่อ สา เพราะสอนไม่มีโอ่งมังกรไปส่งให้
สา หรือไม่ คำตอบ สีจะต้องรับผิดชอบต่อสาเพราะสอนเป็นบุคคลที่สีใช้ให้ไปชำระหนี้คือส่งโอ่งมังกรไปให้สาแทนตน
เป็นความผิดของสอนที่ขับรถประมาทถือเสมือนกับเป็นความผิดของสีเอง
2.
ก ทำสัญญาขายข้าวสารให้ ข 500 กระสอบ ก. ใช้ให้ ค.
ขนข้าวรายนี้ไปส่งมอบให้แก่ ข. แต่ ค. ได้นำข้าวรายนี้ไปขายให้ ง.
แล้วนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนเสียดังนี้ ก. จะต้องรับผิดต่อ ข. หรือไม่ คำตอบ ก. ต้องรับผิดชอบต่อ ข. เพราะ ค.
เป็นบุคคลที่ ก. ใช้ให้นำข้าวสารไปส่งมอบให้แก่ ข. และ ข.
ยังไม่ได้รับมอบข้าวสารที่สั่งซื้อจาก ก.
3.
แดงว่าจ้างขาวให้วาดภาพของตน
แต่ขาวได้ว่าจ้างเขียวให้วาดภาพของแดงอีกต่อหนึ่ง
และขาวได้วาดภาพของแดงมาส่งมอบให้แดงตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แดงไม่ยอมรับภาพวาดดังกล่าวเช่นนี้แดงหรือขาวเป็นผู้ผิดสัญญา
คำตอบ ขาวผิดสัญญาเพราะการวาดภาพนี้ขาวจะตั้งตัวแทนหรือใช้ให้บุคคลอื่นทำแทนตนไม่ได้ขาวจะต้องทำด้วยตนเอง
4.
กรณีต่อไปนี้จะถือว่าเป็นการบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาจง
เช่น แดงขายที่ดินให้ดำ แดงผิดสัญญา
ดำฟ้องขอให้ศาลบังคับให้แดงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ดำ
5. ก.
ปลูกบ้านล้ำรุกเข้าไปในที่ดินของ ข. ข. บอกให้ ก. รื้อถอนบ้านออกไป ก. ไม่ยอมทำ
ดังนี้ ข. จะฟ้องขอให้ศาลบังคับอย่างไร คำตอบ ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้บุคคลภายนอกทำการรื้อถอนบ้านออกไปโดยให้
ก. เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
6.
แดงทำสัญญาขายที่ดินให้ขาว แดงผิดสัญญาไม่ยอมขายที่ดินให้
ขาวจะฟ้องขอให้ศาลบังคับอย่างไร จึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ คำตอบ ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้แดงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ขาว
หากแดงไม่ยอมไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ขาว
ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของแดง
7.
ก. เช่าอาคารจาก ข. เดือนละ 10,000 บาท ครบกำหนดสัญญาเช่า
ข. ไม่ต้องการให้ ก. เช่าอีก และได้บอกให้ ก. ออกจากอาคารที่เช่า
โดยบอกว่าจะเอาอาคารให้ ค. เช่าต่อ เมื่อครบสัญญาเช่า ก. ไม่ยอมออกจากอาคารที่เช่า
เป็นเหตุให้ ข. เอาอาคารที่เช่าไปให้ให้ ค. เช่าไม่ได้ ทั้งนี้ ค.
ทำสัญญาเช่าอาคารจาก ข. เดือนละ 20,000 บาท และได้เงินกินเปล่าจาก ค. อีก 100,000
บาท ดังนี้ ฃ. จะเรียกค่าเสียหายจาก ก. เดือนละ 20,000 บาท
ในระหว่างผิดนัดและเรียกเงิน 100,000 บาท ที่ควรได้จาก ค. เอาจาก ก. ได้หรือไม่ คำตอบ ข. เรียกเงินเดือนละ 20,000 บาท จาก ก. ได้
เพราะเป็นค่าเสียหายธรรมดาที่เกิดจากการไม่ชำระหนี้ คือไม่ส่งมอบอาคารเช่าให้แก่
ข. ตามกำหนด ส่วนเงินกินเปล่า 100,000
บาทนั้น เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษซึ่ง ก. ไม่ทราบล่วงหน้า ข.
จะเรียกเงินจาก ก. ไม่ได้
8.
ก. ทำสัญญาซื้อแร่ดีบุกจาก ข.
โดยระบุในสัญญาว่าเพื่อนำไปขายต่อให้แก่โรงถลุงแร่ ต่อมา ข.
ผิดสัญญาไม่มีแร่ดีบุกขายให้แก่ ก. ก.
จึงไม่มีแร่ดีบุกไปขายให้แก่โรงถลุงแร่ตามสัญญาเป็นเหตุให้ ก.
ขาดกำไรที่จะได้จากการขายแร่ดีบุกเป็นเงิน 50,000 บาท เงินจำนวนนี้ ก.
จะฟ้องร้องเอาจาก ข. ได้หรือไม่ คำตอบ ฟ้องได้เพราะแม้จะเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษก็ตาม
แต่ ข. ก็รู้ล่วงหน้าแล้วว่า ก. จะนำแร่ดีบุกที่ซื้อไปขายต่อให้โรงถลุงแร่
พฤติการณ์เช่นนี้ ก. ย่อมมีโอกาสจะได้กำไร เมื่อ ข. ผิดนัดไม่มีแร่ดีบุกขายให้แก่
ก. ก. ย่อมเสียหายและฟ้องร้องเอาค่าเสียหายจาก ข. ได้
9. มาทำสัญญาซื้อมะพร้าวจากสวนของนายมั่น
เพื่อนำไปขายในตลาดเมืองจำนวน 1,000 ลูก ถึงกำหนดส่งมอบ
มั่นเก็บมะพร้าวขายให้แก่มาได้เพียง 500 ลูก แล้วนำไปส่งมอบให้แก่มา แต่มาไม่ยอม
เพราะส่งมอบให้ไม่ครบ 1,000 ลูกตามสัญญา หากมั่นส่งมอบให้ครบ 1,000 ลูกตามสัญญา
มาจะขายในตลาดในเมืองได้กำไรลูกละ 1 บาท เป็นเงินกำไรที่มาควรได้ทั้งสิ้น 1,000
บาท มาจะฟ้องเรียกค่าขาดกำไรดังกล่าวจากมั่นได้หรือไม่เพียงใด คำตอบ ฟ้องเรียกได้
500 บาท เพราะมามีส่วนผิดด้วยเพราะไม่ยอมรับมะพร้าว 500
ลูกที่มั่นนำมาส่งมอบแล้วนำไปขายเอากำไร 500 บาท
เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ความเสียหายในส่วนนี้มาจะต้องรับผิด
จะเรียกเอากับมั่นไม่ได้
10.
แดงนำที่ดินมีโฉนดไปจำนองไว้กับธนาคาร
เพื่อเป็นประกันเงินกู้จำนวน 50,000 บาท ต่อมาแดงผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ธนาคารยึดทรัพย์สินอื่นของแดงมาขายทอดตลาดชำระหนี้ที่เหลือไม่ได้
เพราะในสัญญาจำนองไม่ได้ระบุไว้ให้ทำเช่นนั้นได้
11.
ก. ทำสัญญาซื้อไม้มะค่าโมงจาก ข. โดยตกลงให้ ข. ส่งไม้ไปให้
ก. เมื่อถึงกำหนด ข. ได้ให้ ค. ลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกไม้ไปส่งให้ ก. ระหว่างทาง ค.
ขับรถยนต์โดยประมาทไปชนกับรถของคนอื่นเป็นเหตุให้ไฟไหม้รถยนต์และไม้ที่บรรทุกมาในรถเสียหายทั้งหมด
ดังนี้ ข. จะต้องรับผิดต่อ ก. หรือไม่ คำตอบ
ข.
จะต้องรับผิดต่อ ก. เพราะความเสียหายเกิดขึ้นจากความผิดของ ค. ซึ่งเป็นบุคคลที่ ข.
ใช้ให้นำไม้ไปส่งให้ ก.
12.
ดำทำสัญญาซื้อน้ำมันเบนซินจากขาวจำนวน 5,000 ลิตร
ถึงกำหนดส่งมอบ ขาวจ้างเขียวขนน้ำมันไปส่งดำโดยทางรถยนต์
แต่แทนที่เขียวจะขนน้ำมันไปส่งให้ดำ
เขียวกับนำน้ำมันไปขายแล้วนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียดังนี้
ขาวจะต้องรับผิดใช้ราคาน้ำมันให้ดำหรือไม่ คำตอบ
ขาวจะต้องรับผิดใช้ราคาน้ำมันให้แก่ดำ
เพราะดำใช้ให้เขียวนำน้ำมันไปส่งให้ดำ เมื่อเขียวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ดำ ขาวจะต้องรับผิดเสมือนกับขาวได้ก่อความเสียหายขึ้นเอง
13.
โต๊ะขายเครื่องเรือนของตนให้แก่ตู้
โดยชำระราคากันเรียบร้อยแล้ว
และตกลงกันว่าโต๊ะจะเอาเครื่องเรือนไปส่งให้ที่บ้านของตู้ในเย็นวันเดียวกันเมื่อตู้กลับบ้านแล้ว
โต๊ะได้ว่าจ้างตั่งให้เอาเครื่องเรือนไปส่งให้ตู้โดยมีข้อตกลงว่าตั่งจะต้องนำเครื่องเรือนไปส่งให้ตู้ถึงบ้านของตู้ให้เรียบร้อย
ถ้าหากตู้ไม่ได้รับเครื่องเรือนหรือเครื่องเรือนชำรุดเสียหายตั่งจะต้องรับผิดชอบต่อตู้แต่เพียงผู้เดียวโดยโต๊ะจะไม่รับผิดชอบด้วยตกลงกันเสร็จแล้ว
ตั่งได้เอาเครื่องเรือนบรรทุกรถยนต์ของตนเพื่อนำไปส่ง แต่ในระหว่างทาง
ตั่งกลับนำเอาเครื่องเรือนไปขายให้เตียง
ตู้เลยไม่ได้รับเครื่องเรือนตามสัญญาดังนี้โต๊ะจะต้องรับผิดชอบต่อตู้ในการที่ตู้ไม่ได้รับเครื่องเรือนหรือไม่
คำตอบ โต๊ะจะต้องรับผิดชอบต่อตู้เพราะตั่งเป็นบุคคลที่โต๊ะให้ไปชำระหนี้
ข้อตกลงที่โต๊ะกับตั่งให้ไว้ต่อกันไม่มีผลบังคับเพราะไม่ใช่ข้อตกลงที่โต๊ะมีกับตู้
14.
หลักทั่วไปของการบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงคือ สภาพแห่งหนี้ต้องเปิดช่องให้บังคับได้โดยมีวัตถุแห่งหนี้เป็นการส่งมอบทรัพย์สิน
และการชำระหนี้ยังเป็นวิสัยที่กระทำได้
15. ก.
ซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจาก ข. ชำระเงินกันเรียบร้อยแล้ว แต่ ข.
ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ก. ดังนี้ ก. จะฟ้องร้องบังคับอย่างไร ก.
จึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน คำตอบ ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้
ข. ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ถ้า ข. ไม่ไปก็ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ
ข. ให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนในที่ดินให้ ข.
16.
ก. ทำสัญญาซื้อขายที่ของ ข. เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยมีข้อตกลงว่า
ข. ให้ ก. ใช้ถนนส่วนบุคคลของ ข. ที่ผ่านที่ดินของ ก. เพื่อออกสู่ถนนใหญ่ได้ ต่อมา
ก. กับ ข. มีเรื่องไม่ถูกกัน ข. จึงทำประตูปิดกั้นถนนไม่ให้ ก.
ใช้เป็นทางเดินออกไปสู่ถนนใหญ่ได้ ดังนี้ ก.
จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้รื้อถอนประตูออกไปจากถนนเสีย คำตอบ ก.
จะต้องฟ้องให้ศาลสั่งให้บุคคลภายนอกจากตัว ข. จัดการรื้อถอนประตูออกโดยให้ ข.
เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
17.
กรณีที่หนี้มีวัตถุแห่งหนี้เป็นส่งมอบทรัพย์สินลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้
เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้คือ มีสิทธิที่จะฟ้องศาลขอให้ส่งบังคับให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์สินและให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้
18.
มีหลักเกณฑ์อะไรบ้างที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากลูกหนี้ได้
คำตอบ (ก) ต้องมีการไม่ชำระหนี้และเจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย
(ข) การไม่ชำระหนี้เป็นเพราะพฤติการณ์ ซึ่งจะโทษลูกหนี้ได้ (ค) ต้องไม่มีข้อสัญญาตัดสิทธิเจ้าหนี้ไม่ให้เรียกร้องค่าเสียหาย
19.
มี ว่าจ้าง มา ให้สร้างบ้านให้
มาสร้างบ้านไม่เสร็จตามกำหนดเวลาที่ตกลง มีไม่สามารถเอาบ้านไปให้ มา
เช่าตามสัญญาที่มีกับมาทำกันไว้เป็นเหตุให้ มี ต้องถูกปรับเป็นเงิน 10,000 บาท
และขาดประโยชน์ไม่ได้ค่าเช่าบ้านจาก มา เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 4
เดือนเป็นเงิน 20,000 บาท ดังนี้ มี
จะฟ้องเรียกค่าปรับที่เสียไปและขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จาก มา ได้หรือไม่ คำตอบ ฟ้องเรียกค่าปรับและค่าขาดประโยชน์จาก
มา ไม่ได้เพราะเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษซึ่งมา
ไม่คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็น
20.
มาตรา 214 บัญญัติว่า
เจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงนั้นท่านเข้าใจว่าอย่างไร
คำตอบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะยึดทรัพย์สินของลูกหนี้เพียงเท่าที่พอจะชำระหนี้แก่ตนเท่านั้น
จะยึดทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าที่จำเป็นจะต้องชำระแก่ตนไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น