วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หน่วยที่ 9 ความระงับแห่งหนี้


1.    หนี้เมื่อเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว อาจระงับลงได้ในหลายๆ กรณีต่างๆ กัน การชำระหนี้เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งมีผลทำให้หนี้ระงับ คือ ความผูกพันระหว่างเจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่มีอยู่ในมูลหนี้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง แต่การชำระหนี้ที่จะมีผลทำให้หนี้ระงับลงได้นั้นต้องเป็นการชำระหนี้โดยชอบ
2.    การปลดหนี้ก็เป็นวิธีการระงับหนี้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเจ้าหนี้สละสิทธิเรียกร้องที่ตนมีอยู่ในมูลหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยเสน่หา ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ

1.1  การชำระหนี้
1.    บุคคลที่จะมีอำนาจชำระหนี้ได้โดยชอบนั้น ปกติได้แก่ ตัวลูกหนี้ แต่บุคคลภายนอกก็อาจเข้ามาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้ หากสภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้และไม่เป็นการขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้
2.    การชำระหนี้โดยชอบต้องชำระแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้ อันได้แก่ตัวเจ้าหนี้เองและบุคคลอื่นๆ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีการให้มีอำนาจรับชำระหนี้
3.    การชำระหนี้ให้ถูกต้องตามความประสงค์ที่แท้จริงของมูลหนี้ ซึ่งเป็นการชำระหนี้โดยชอบนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาในเรื่องผู้ชำระหนี้และผู้รับชำระหนี้แล้ว การชำระหนี้นั้นต้องชอบด้วยวัตถุแห่งการชำระหนี้ สถานที่ชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ด้วย
4.    หลักฐานแห่งการชำระหนี้มีไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ชำระหนี้ในการที่จะพิสูจน์ในเบื้องต้นว่า หนี้ได้ระงับลงแล้วด้วยการชำระหนี้
5.    การจัดสรรชำระหนี้เป็นความจำเป็นในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้อยู่หลายราย หรือหนี้รายเดียวซึ่งต้องชำระหลายอย่าง แล้วลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้ครบหมดทุกรายหรือทุกอย่างในการชำระหนี้ครั้งหนึ่งๆ
6.    เมื่อใดมีการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว ย่อมมีผลทำให้บรรดาความรับผิดชอบของลูกหนี้อันจะเกิดจากการไม่ชำระหนี้ เป็นอันได้ปลดเปลื้องไป นับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น

1.1.1   ผู้ชำระหนี้
หลักเกณฑ์สำหรับบุคคลภายนอกที่จะเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้โดยชอบนั้น มีสาระสำคัญอย่างไร อธิบาย
ผู้ที่ชำระหนี้ได้โดยชอบได้แก่บุคคลต่อไปนี้
(1) ตัวลูกหนี้เอง
(2) บุคคลภายนอกซึ่งเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้
ตาม มาตรา 14 วางข้อยกเว้นมิให้บุคคลภายนอกชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้มี 3 ประการ คือ
1. เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้แทนได้ เพราะเป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ ซึ่งโดยสภาพของหนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสามารถเฉพาะตัวของลูกหนี้ หรือเป็นการที่ลูกหนี้จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยตนเอง การชำระหนี้นั้นจึงจะสำเร็จผลตามความประสงค์อันแท้จริงของมูลหนี้
2. ถ้าคู่กรณีแสดงเจตนาไว้ว่าบุคคลภายนอกจะทำการชำระหนี้ไม่ได้เช่นนี้ บุคคลภายนอกก็จะเข้าทำการชำระหนี้ไม่ได้ การแสดงเจตนาต้องเป็นเรื่องตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
3. บุคคลภายนอกซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้ เพราะอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียงของลูกหนี้

มาตรา 314 อันการชำระหนี้นั้นท่านว่าบุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระ หรือจะขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้
บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้นั้น จะเข้าชำระหนี้โดย ขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่

ก. และ ข. ร่วมกันกู้เงินจาก ค. มา 1,000 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระ ก. นำเงิน 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไปชำระให้แก่  ค. โดย ข. ไม่ยินยอม ค. รับชำระหนี้ไว้ หนี้รายนี้ระงับหรือไม่ เพราะเหตุใด
กรณีตามอุทาหรณ์ นี้ไม่เข้าตามมาตรา 314  ก. เป็นลูกหนี้ร่วมกับ ข. จึงเข้าชำระหนี้โดยขืนใจ  ข. ได้ เพราะมีส่วนได้เสียตามบทบัญญัติในเรื่องลูกหนี้ร่วม (มาตรา 291 และ มาตรา 292) ก. ไม่ใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา 314

มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนอง ซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับ ชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่ โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกแต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
มาตรา 292 การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้นย่อมได้เป็น ประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่ การใด อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ และ หักกลบลบหนี้ด้วย
ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร ลูกหนี้คนอื่น จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้หาได้ไม่

1.1.2   ผู้รับชำระหนี้
บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้ ได้แก่ บุคคลประเภทใดบ้าง อธิบาย
บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้ได้โดยชอบได้แก่
1)   เจ้าหนี้กับผู้มีอำนาจรับชำระหนี้ ตามมาตรา 315
2)   ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิ ตามมาตรา 316
3)   ผู้ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ ตามมาตรา 317
4)   ผู้ถือใบเสร็จ ตามมาตรา 318
5)   กรณีลูกหนี้ได้รับคำสั่งอายัดจากศาล ตามมาตรา 319

มาตรา 315 อันการชำระหนี้นั้น ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่ บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์
มาตรา 316 ถ้าการชำระหนี้นั้นได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏ แห่งสิทธิในมูลหนี้ ท่านว่าการชำระหนี้นั้นจะสมบูรณ์ก็แต่เมื่อบุคคล ผู้ชำระหนี้ได้กระทำการโดยสุจริต
มาตรา 317 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ใน มาตรา ก่อน การชำระหนี้ แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับนั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์เพียงเท่าที่ตัว เจ้าหนี้ได้ลาภงอกขึ้นแต่การนั้น
มาตรา 318 บุคคลผู้ถือใบเสร็จเป็นสำคัญ ท่านนับว่าเป็นผู้มีสิทธิจะได้ชำระหนี้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้ ถ้าบุคคลผู้ชำระหนี้รู้ว่าสิทธินั้น หามีไม่ หรือไม่รู้เท่าถึงสิทธินั้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตน
มาตรา 319 ถ้าศาลสั่งให้ลูกหนี้คนที่สามงดเว้นทำการชำระหนี้แล้ว ยังขืนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของตนเองไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ผู้ที่ร้องขอ ให้ยึดทรัพย์จะเรียกให้ลูกหนี้คนที่สามนั้นทำการชำระหนี้อีกให้คุ้มกับ ความเสียหายอันตนได้รับก็ได้
อนึ่ง ข้อความซึ่งกล่าวมาในวรรคข้างต้นนี้หาเป็นข้อขัดขวางใน การที่ลูกหนี้คนที่สามจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เจ้าหนี้ของตนเองนั้นไม่

ดำขับรถไปชนกับรถของแดงซึ่งเอาประกันไว้กับบริษัทประกันภัย รถของแดงเสียหายต้องเสียค่าซ่อม 3,000 บาท ซึ่งบริษัทประกันภัยชำระให้แก่แดงไปตามสัญญาประกัน แล้วเรียกร้องให้ดำชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว ดำเห็นว่าบริษัทประกันภัยไม่ใช่เจ้าของรถที่ถูกรถของตนชน จึงชำระให้แก่แดงไป การชำระหนี้ของดำเป็นการชำระหนี้โดยชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
กรณีตามอุทาหรณ์ บริษัทประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของแดงตามกฎหมาย มาตรา 226 มาตรา 227 จึงชอบที่จะใช้สิทธิที่แดงมีอยู่ ต่อดำผู้กระทำละเมิดได้ ในนามของตนเอง บริษัทประกันภัยจึงเป็นผู้มีอำนาจ  รับชำระหนี้โดยชอบ เพราะอำนาจรับชำระหนี้ของแดงหมดไปแล้ว การที่ดำชำระหนี้ให้แก่แดงไป จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบ บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องให้ดำชำระเงินดังกล่าวซ้ำสองได้

มาตรา 226 บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิ ทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้น ได้ในนามของตนเอง

ช่วงทรัพย์ ได้แก่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีก อันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน
มาตรา 227 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็ม ตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อม เข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธิ นั้น ด้วยอำนาจกฎหมาย

1.1.3   หลักเกณฑ์ทั่วไปในการชำระหนี้
การชำระหนี้ให้ถูกต้องตามความประสงค์ที่แท้จริงของมูลหนี้ นอกเหนือจากเรื่องกำหนดเวลาชำระ และตัวบุคคลผู้มีอำนาจชำระหนี้และรับชำระหนี้แล้ว ยังควรต้องคำนึงถึงกรณีใดอีกบ้าง อธิบายพอสังเขป
ต้องชอบด้วยวัตถุแห่งการชำระหนี้ สถานที่ในการชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ ตามมาตรา 320 มาตรา 325

มาตรา 320 อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่
มาตรา 321 ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการ ชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับ   สิ้นไป
ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอแก่ใจเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ ต่อเจ้าหนี้ไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้
ถ้าชำระหนี้ด้วยออก-ด้วยโอน-หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงิน หรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวน สินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว
มาตรา 322 ถ้าเอาทรัพย์ก็ดี สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกก็ดี หรือสิทธิอย่างอื่นก็ดี ให้แทนการชำระหนี้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องรับ ผิดเพื่อชำรุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย
มาตรา 323 ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าบุคคลผู้ชำระหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ใน เวลาที่จะพึงส่งมอบ
ลูกหนี้จำต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้ด้วยความระมัดระวัง เช่นอย่าง วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น
มาตรา 324 เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะ พึงชำระหนี้ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อ ให้เกิดหนี้นั้นส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้
มาตรา 325 เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้ในข้อค่าใช้จ่ายในการชำระ หนี้ท่านว่าฝ่ายลูกหนี้พึงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมี จำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเจ้าหนี้ย้ายภูมิลำเนาก็ดี หรือเพราะการอื่นใด อันเจ้าหนี้ได้กระทำก็ดี ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าใดเจ้าหนี้ต้องเป็นผู้ออก

1.1.4   หลักฐานแห่งการชำระหนี้
หลักฐานแห่งการชำระหนี้มีประโยชน์อย่างไรสำหรับผู้ชำระหนี้ ให้เหตุผลตามมาตรา 326 และ มาตรา 327
หลักฐานแห่งการชำระหนี้มีประโยชน์ต่อลูกหนี้ สำหรับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าหนี้ได้มีการชำระแล้ว ซึ่งหลักฐานดังกล่าว เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้นเป็นสิ่งที่จะสามารถนำมาพิสูจน์ได้ดีกว่าพยานบุคคลซึ่งอาจมีการหลงลืมหรือเบิกความเท็จได้

1.1.5   การจัดสรรชำระหนี้
หลักเกณฑ์ในเรื่องการจัดสรรชำระหนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุผลอย่างไร และมีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง อธิบาย
เหตุผลในเรื่องการจัดสรรชำระหนี้เป็นลำดับก่อนหลังก็เพื่อขจัดปัญหาข้อโต้ถียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีลูกหนี้เป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้คนเดียวกันในมูลหนี้หลายราย เช่น เป็นหนี้เงินกู้บ้าง หนี้ค่าเช่าบ้าง หรือหนี้รายเดียวกันแต่มีการต้องชำระหนี้หลายอย่าง เช่น เป็นหนี้เงินกู้ ต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นต้น แต่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้เหล่านี้ได้หมดทุกราย (ในกรณีมีมูลหนี้หลายราย) หรือหมดทุกอย่าง (ในกรณีมูลหนี้รายเดียวแต่ต้องชำระหลายอย่าง) ในการชำระหนี้ครั้งหนึ่งๆ หากไม่มีกฎหมายบัญญัติจัดลำดับแห่งการชำระหนี้ก่อนหลังไว้ ก็จะเป็นปัญหาโต้เถียงได้ส่วนจะเอาชำระหนี้รายใดก่อน จึงจะผ่อนคลายภาระของลูกหนี้ไปได้

มาตรา 328 ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อ ชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อ ทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้น เป็นอันได้เปลื้องไป

ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายไหนถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็น อันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดนั้น รายใดเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุดก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า กัน ให้รายที่ตกหนัก ที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อนในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ ตกหนักแก่ลูกหนี้เท่าๆกัน ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไป ก่อน และถ้ามีหนี้สินหลายรายเก่าเท่า กัน ก็ให้หนี้สินทุกรายเป็น อันได้เปลื้องไปตามส่วนมากและน้อย
มาตรา 329 ถ้านอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธาน ลูกหนี้ยัง จะต้องชำระดอกเบี้ยและเสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกด้วยไซร้ หากการ ชำระหนี้ในครั้งหนึ่งๆ ไม่ได้ราคาเพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ท่านให้เอาจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงใช้ดอกเบี้ยและ ในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน
ถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้เป็นประการอื่น ท่านว่าเจ้าหนี้จะบอกปัดไม่ ยอมรับชำระหนี้ก็ได้

1.1.6   ผลของการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ
การขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ คืออย่างไร มีผลตามกฎหมายอย่างไร อธิบาย
ถ้าได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ก็เป็นอันได้ปลดเปลื้องไปนับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ เพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ เนื่องจากมีกรณีที่ลูกหนี้ได้พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับชำระหนี้ แม้ว่าจะเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เช่น เป็นหนี้เงินกู้เขาก็เอาทั้งต้นและดอกตามจำนวนที่จะต้องใช้จนครบถ้วนมาชำระโดยถูกต้อง เจ้าหนี้ก็ยังหาทางบ่ายเบี่ยงจะเอาประโยชน์อย่างอื่นโดยมิชอบ เหตุขัดข้องที่ยังไม่มีการชำระหนี้เกิดแก่ฝ่ายเจ้าหนี้เอง

มาตรา 330 เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ก็เป็นอันปลดเปลื้องไป นับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น

ดำเป็นหนี้เงินกู้แดงอยู่ 500 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระดำขอชำระให้แดงเพียง 350 บาท ก่อน แดงไม่ยอมรับชำระ ดังนี้ ดำจะถือว่าแดงผิดนัด เพราะตนได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ชำระหนี้โดยชอบแล้ว ได้หรือไม่
ตามมาตรา 320 จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระแต่เพียงบางส่วนจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เสียก่อนตามมาตรา 208
แดงไม่ผิดนัด ยังไม่ถือได้ว่าดำได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ เว้นเสียแต่ว่าดำจะได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อแดงเป็นอย่างนั้นโดยตรง

มาตรา 207 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 208 การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด   ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ เป็นอย่างนั้นโดยตรง
มาตรา 320 อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่
มาตรา 330 เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ก็เป็นอันปลดเปลื้องไป นับแต่ เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น

1.1.7   การวางทรัพย์
การวางทรัพย์ คืออะไร มีเหตุผลอย่างไร มีหลักเกณฑ์ที่ควรคำนึงถึงอย่างไรบ้าง อธิบายโดยสังเขป
การวางทรัพย์เป็นทางออกของลูกหนี้ที่จะทำให้หลุดพ้นจากหนี้ได้  หลักเกณฑ์ที่ผู้ชำระหนี้จะวางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ มีได้ 3 ประการคือ
1)   เจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมชำระหนี้ ทั้งๆ ที่ผู้ชำระหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว ถ้าเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยไม่ชอบ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบอกปัดได้
2)   เจ้าหนี้ไม่สามารถรับชำระหนี้ได้ เช่น เจ้าหนี้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือมีเหตุขัดข้องอย่างอื่น
3)   ผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิหรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้โดยแน่นอน โดยมิใช่ความผิดของตน เช่น เจ้าหนี้ตายและมีบุคคลอื่นหลายคนมาอ้างเป็นผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพราะเป็นทายาทโดยธรรม

มาตรา 331 ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็น วัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็น ความผิดของตน
มาตรา 332 ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้จะต้องชำระหนี้ ตอบแทนด้วยไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะกำหนดว่าต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ ตอบแทนจึงให้มีสิทธิรับเอาทรัพย์ที่วางไว้นั้นก็ได้
มาตรา 333 การวางทรัพย์นั้นต้องวาง สำนักงานวางทรัพย์ ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้
ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับเฉพาะการใน เรื่องสำนักงานวางทรัพย์ เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอ ศาลจะต้อง กำหนดสำนักงานวางทรัพย์ และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ที่วางนั้นขึ้น

ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน
มาตรา 334 ลูกหนี้มีสิทธิจะถอนทรัพย์ที่วางนั้นได้ ถ้าลูกหนี้ถอน ทรัพย์นั้นท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้วางทรัพย์ไว้เลย สิทธิถอนทรัพย์นี้เป็นอันขาดในกรณีต่อไปนี้
(1) ถ้าลูกหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าตนยอมละสิทธิที่ จะถอน
(2) ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น
(3) ถ้าการวางทรัพย์นั้นได้เป็นไปโดยคำสั่งหรืออนุมัติของศาล และได้บอกกล่าวความนั้นแก่สำนักงานวางทรัพย์
มาตรา 335 สิทธิถอนทรัพย์นั้น ตามกฎหมาย ศาลจะสั่งยึดหา ได้ไม่

เมื่อได้ฟ้องคดีล้มละลายเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ท่าน ห้ามมิให้ใช้สิทธิถอนทรัพย์ในระหว่างพิจารณาคดีล้มละลาย
มาตรา 336 ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการชำระหนี้ไม่ควรแก่การ จะวางไว้ก็ดี หรือเป็นที่พึงวิตกว่าทรัพย์นั้นเกลือกจะเสื่อมเสียหรือ ทำลาย หรือบุบสลายได้ก็ดี เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล บุคคลผู้ ชำระหนี้จะเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด แล้วเอาเงินที่ได้แต่ การขายวางแทนทรัพย์นั้นก็ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ค่ารักษาทรัพย์จะแพงเกินควรนั้นด้วย
มาตรา 337 ท่านไม่อนุญาตให้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด จนกว่าจะได้บอกให้เจ้าหนี้รู้ตัวก่อน การบอกนี้จะงดเสียก็ได้ ถ้า ทรัพย์นั้นอาจเสื่อมทรามลงหรือภัยมีอยู่ในการที่จะหน่วงการขาย ทอดตลาดไว้
ในการที่จะขายทอดตลาดนั้น ท่านให้ลูกหนี้บอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ โดยไม่ชักช้า ถ้าละเลยเสียไม่บอกกล่าว ลูกหนี้จะต้องรับผิดใช้ค่า สินไหมทดแทน
การบอกให้รู้ตัวและบอกกล่าวนี้ ถ้าไม่เป็นอันจะทำได้ จะงดเสียก็ได้
เวลาและสถานที่ที่จะขายทอดตลาดกับทั้งคำพรรณนาลักษณะแห่งทรัพย์นั้น ท่านให้ประกาศโฆษณาให้ประชาชนทราบ

มาตรา 338 ค่าฤชาธรรมเนียมในการวางทรัพย์หรือขายทอดตลาด นั้นให้ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้ออก เว้นแต่ลูกหนี้จะได้ถอนทรัพย์ที่วาง
มาตรา 339 สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้นั้นเป็นอันระงับ สิ้นไปเมื่อพ้นเวลาสิบปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์
อนึ่ง เมื่อสิทธิของเจ้าหนี้ระงับสิ้นไปแล้ว ถึงแม้ลูกหนี้จะได้ละสิทธิ ถอนทรัพย์ ก็ยังชอบที่จะถอนทรัพย์นั้นได้

1.2  ปลดหนี้
1.    การปลดหนี้เป็นวิธีการระงับหนี้อีกวิธีหนึ่ง กระทำได้โดยเจ้าหนี้แสดงเจตนาที่แจ้งชัดแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อลูกหนี้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ว่าปลดหนี้ให้โดยเสน่หา ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น
2.    โดยปกติการปลดหนี้กระทำโดยวาจาก็เพียงพอแล้ว และจะปลดหนี้ให้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้
3.    การปลดหนี้มีผลให้หนี้ระงับลงเท่าส่วนที่เจ้าหนี้ได้ปลดให้

1.2.1   หลักเกณฑ์ในการปลดหนี้
1.2.2   ผลของการปลดหนี้
การปลดหนี้มีหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญอย่างไรบ้าง และมีผลตามกฎหมายอย่างไร อธิบาย
นายโตเป็นหนี้เงินกู้นายเล็กอยู่ 1,000 บาท ต่อมานายโตกลายเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว นายเล็กเกิดความเบื่อหน่ายในการติดตามทวงให้นายโตชำระหนี้รายนี้แก่ตน จึงมีจดหมายแจ้งไปยังนายโตว่ายกหนี้ 1,000 บาท นี้ให้นายโตทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ต่อมานายเล็กตาย และนายโตได้ทราบข่าวการตายของนายเล็กก่อนที่นายโตจะเปิดจดหมายของนายเล็กออกอ่าน ถ้าทายาทของนายเล็กมาเรียกร้องให้นายโตชำระหนี้ 1,000 บาท นี้ นายโตจะอ้างว่าตนหลุดพ้นจากหนี้เพราะนายเล็กปลดหนี้ให้แล้วได้หรือไม่
การปลดหนี้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปลดหนี้ได้ดังต่อไปนี้
1.    การปลดหนี้เป็นนิติกรรมที่เจ้าหนี้ แสดงเจตนาสละสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่มีต้อลูกหนี้ให้โดยเสน่หา คือไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
2.    การปลดหนี้ทำให้สำเร็จผลได้ก็โดยการที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะปลดหนี้ให้ก็เป็นการเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องรับความยินยอมจากลูกหนี้ หลักสำคัญคือการแสดงเจตนานั้นต้องเป็นการชัดแจ้งโดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย การแสดงเจตนานี้ต้องกระทำต่อลูกหนี้ด้วย ถ้าเพียงแต่บอกกล่าวคนอื่นโดยยังไม่ได้บอกกล่าวแสดงเจตนาต่อลูกหนี้ จะถือว่าเป็นการปลดหนี้ยังไม่ได้
3.    การปลดหนี้นั้นเจ้าหนี้จะปลดหนี้ให้ทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้แล้วแต่ความสมัครใจของเจ้าหนี้ หนี้ที่จะปลดให้เพียงบางส่วนได้นั้น จะต้องเป็นหนี้ที่มีลักษณะแบ่งชำระได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นหนี้เงิน
4.    การปลดหนี้นั้นโดยปกติกระทำโดยทางวาจาก็เป็นการเพียงพอแล้ว แต่ถ้าเป็นหนี้ที่มีหนังสือเป็นหลักฐาน มาตรา 340 วรรค 2 กล่าวว่า การปลดหนี้ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ไป มิฉะนั้นการปลดหนี้จะตกเป็นโมฆะ มีผลทำให้หนี้ยังไม่ระงับ

มาตรา 340 ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่าน ว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป 
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่า เอกสารนั้นเสีย

แบบประเมินผลตนเองหน่วยที่ 9

1.    ขาวเป็นหนี้เงินกู้เขียวอยู่ 200 บาท หนี้รายนี้อาจระงับหรือสิ้นสุดลงได้ในกรณี หนี้ถึงกำหนดชำระแล้วเขียวไม่เรียกร้องให้ขาวชำระจนเวลาล่วงพ้น 10 ปี
2.    ในกรณีต่อไปนี้ บุคคลผู้มีอำนาจชำระหนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้จะไม่ยินยอมด้วยคือ ผู้คำประกันลูกหนี้
3.    ผู้จัดการมรดกของเจ้าหนี้ เป็นบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้โดยชอบ
4.    ในกรณีที่มิได้มีการตกลงกันไว้ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ตามปกติ ลูกหนี้เป็นผู้ต้องออกค่าใช้จ่ายนั้น
5.    กรณีที่เป็นหนี้เงินกู้ ถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อการชำระเงินต้นแล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับดอกเบี้ยแล้ว
6.    ดำเป็นหนี้แดงในมูลหนี้ 2 รายคือ เป็นหนี้เงินกู้ 800 บาท โดยไม่มีกำหนดชำระ และเป็นหนี้ค่าเช่าบ้านอีก 800 บาท ถึงกำหนดชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2526 ในวันที่ 5 เมษายน 2526 ดำนำเงิน 800 บาท มาชำระให้แก่แดงโดยไม่ได้บอกว่าจะชำระรายใดก่อน เช่นนี้จะต้องจัดสรรเงินจำนวน 800 บาทนี้ ชำระให้แก่แดงอย่างไรจึงจะเป็นการชอบด้วยกฎหมาย  ต้องชำระเงิน 800 บาทให้แก่แดงสำหรับหนี้ค่าเช่าบ้านก่อน
7.    กรณีต่อไปนี้ เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ ซึ่งจะมีผลทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ไม่มีการชำระหนี้ คือ นัดไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่กรมที่ดิน เมื่อถึงวันที่กำหนดผู้ขายไปตามนัดหมาย แต่ผู้ซื้อไม่มา
8.    ในกรณีที่ลูกหนี้จะวางทรัพย์ไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ซึ่งจะมีผลให้ตนหลุดพ้นจากหนี้ได้คือ เจ้าหนี้เกิดตายลงในเวลาที่ลูกหนี้มาชำระหนี้ตามกำหนด และมีบุคคลหลายคนอ้างว่ามีสิทธิรับชำระหนี้ดีกว่าคนอื่น
9.    การปลดหนี้ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้ (ก) นายมั่งมีซึ่งเป็นเจ้าหนี้พูดกับนางสาวโสภายกหนี้สินที่นางสาวโสภามีอยู่ต่อตนให้เพราะเกิดความรักใคร่ในตัวนางสาวโสภาในภายหลัง แต่นางสาวโสภาไม่ยินยอมรับ ยืนยันจะชำระหนี้ให้ดังเดิม (ข) นายมั่งมีพูดกับนางสาวโสภาว่ายกหนี้ให้เพราะเกิดความเบื่อหน่ายรำคาญในการติดตามทวงให้นางสาวโสภาชำระหนี้แก่ตน
10. การปลดหนี้มีผลทำให้หนี้ระงับลงเท่าส่วนที่เจ้าหนี้ปลดให้ ส่วนที่ไม่ได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ยังคงต้องผูกพันอยู่ ดังนั้นจึงมีการปลดหนี้ให้บางส่วนได้