วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หน่วยที่ 2 การไม่ชำระหนี้

เมื่อเกิดหนี้ขึ้นย่อมมีเจ้าหนี้ลูกหนี้ ลูกหนี้ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เสียเลย หรือชำระหนี้ขาดตกบกพร่อง กล่าวคือ ชำระหนี้ล่าช้าผิดเวลา ผิดสถานที่ หรือผิดวัตถุแห่งหนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เพื่อชดเชยความเสียหาย จำเป็นที่จะให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการไม่ชำระหนี้มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ได้ การฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งการบังคับชำระหนี้

2.1    การถึงกำหนดชำระหนี้
1.    ถ้าเวลาอันพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนโดยพลันดุจกัน
2.    ถ้าหนี้ได้กำหนดเวลาชำระไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นได้

2.1.1   หนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระ
หนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระนั้นถึงกำหนดชำระเมื่อใด และมีผลต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่างประกอบ
ปพพ. ได้บัญญัติหลักทั่วไปในเรื่องหนีที่มิได้กำหนดเวลาในมาตรา 203 วรรคแรก ว่าดังนี้ ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมชำระหนี้ของตนโดยพลันดุจกัน ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าหนี้ไม่ได้กำหนดเวลาชำระเอาไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ใดๆ ก็ไม่อาจทราบได้ว่าถึงกำหนดชำระเมื่อใด ย่อมถือว่าเมื่อมีหนี้เกิดขึ้น กำหนดชำระหนี้ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันในทันที มีผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนีชำระหนี้ทันที่ และลูกหนี้ก็มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ทันทีดุจกัน
ตัวอย่าง ก. กู้เงิน ข. โดยมิได้กำหนดเวลาว่าจะชำระหนี้ให้ ข. เมื่อใด และอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ ข. ย่อมเรียกให้ ก. ชำระหนี้ได้โดยพลัน และ ก. ก็ย่อมชำระหนี้ให้ ข. ได้โดยพลันดุจกัน

2.1.2   หนี้มีกำหนดเวลาชำระและหนี้มีกำหนดชำระตามพฤติการณ์
ก. ยืมเครื่องบวชนาคของ ข. เพื่อเอาไปอุปสมบทบุตรชายโดยไม่ได้กำหนดเวลาส่งคืน ข. เรียกเครื่องอุปสมบทคืนจาก ก. ได้เมื่อไร เพราะเหตุใด
ปพพ. มาตรา 203 วรรคแรกบัญญัติหลักในเรื่องเวลาชำระหนี้ตามพฤติการณ์ดังนี้ ถ้าเวลาอันพึงจะชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายความว่า ถ้าเวลาชำระหนี้มิได้กำหนดกันไว้ แต่พออนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงได้ว่าจะชำระหนี้กันได้เท่าใด ลูกหนี้ต้องชำระหนี้และเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ตามพฤติการณ์ที่พึงอนุมานได้
ตามอุทาหรณ์ แม้ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ แต่ก็พออนุมานได้ว่า ก. ต้องคืนเครื่องอุปสมบทนาคให้ ข. เมื่ออุปสมบทบุตรชายเสร็จแล้ว ดังนั้น ข. จะเรียกเครื่องอุปสมบทคืนก่อนเสร็จงานอุปสมบทไม่ได้ จะเรียกคืนได้เมื่องานอุปสมบทเสร็จสิ้นแล้ว

2.1.3   หนี้มีกำหนดเวลาชำระแต่กรณีเป็นที่สงสัย
ที่ว่า ประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาได้แก่ฝ่ายลูกหนี้ และ หนี้ที่ถึงกำหนดเวลาชำระแต่กรณีเป็นที่สงสัย เราเข้าใจว่าอย่างไร มีผลต่อเจ้าหนีและลูกหนี้อย่างไร อธิบาย
มาตรา 203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือ จะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อม จะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของ ตนได้โดยพลันดุจกัน

ปพพ. มาตรา 203 วรรคสองบัญญัติเกี่ยวกับหลักที่ว่า เงื่อนประโยชน์แห่งเวลาย่อมได้แก่ฝ่ายลูกหนี้ ไว้ว่า ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
หลักกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องหนี้มีกำหนดเวลาชำระ แต่กรณีเกิดเป็นสงสัยว่า ประโยชน์แห่งเวลาเป็นของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ กฎหมายจึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ฝ่ายเดียว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาไม่ได้ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาย่อมทำได้ ทั้งนี้กฎหมายประสงค์จะให้ลูกหนี้ได้เตรียมการชำระหนี้ไว้ให้พร้อม ถ้าจะให้เจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้ได้ก่อนกำหนดเวลา ลูกหนี้อาจจะยังไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ จะทำให้ลูกหนี้เดือดร้อน แต่ถ้าอนุมานจากพฤติการณ์ได้ หรือมีข้อความปรากฏชัดแจ้งในตราสารว่ากำหนดเวลาชำระหนี้มีไว้เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น ซึ่งจะมีผลให้เจ้าหนี้เรียกชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาได้ แต่ลูกหนี้ไม่มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนด

2.2    การผิดนัด
1.    ลูกหนี้ผิดนัดหมายถึงการที่ลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้าผิดเวลา
2.    ลูกหนีไม่มีกำหนดเวลาชำระ ถ้าเจ้าหนี้เตือนให้ชำระหนี้ไม่ชำระ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือน
3.    ในกรณีหนี้อันเกิดมูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด
4.    ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัด
5.    เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์แห่งหนี้ ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
6.    ลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้า เจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
7.    ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความเสียหายตลอดจนการชำระหนี้กลายเป็นหนี้พ้นวิสัยในระหว่างผิดนัด
8.    ลูกหนี้ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยหนี้เงินในระหว่างผิดนัด
9.    เมื่อลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุที่อ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
10.ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยหากเจ้าหนี้พร้อมจะชำระหนี้แต่ไม่เสนอที่จะชำระหนี้ตอบแทน เจ้าหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด
11.ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้หรือในเวลาที่กำหนดให้เจ้าหนี้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้เจ้าหนี้ยังไม่ผิดนัด
12.ถ้ามิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ หรือถ้าลูกหนี้มีสิทธิที่ชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนด การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติแก่ตนได้ เจ้าหนี้ยังไม่ผิดนัด เว้นแต่ลูกหนี้ได้บอกกล่าวชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันสมควร
13.หนี้เงินจะเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเจ้าหนี้ผิดนัดไม่ได้
14.เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้วเจ้าหนี้ผิดนัด บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแก่การไม่ชำระหนี้เป็นอันปลดเปลื้องไปนับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้และเพื่อให้หลุดพ้นจากหนี้ ลูกหนี้ต้องจัดการวางทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้

2.2.1   กรณีที่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลยในกรณีใดบ้าง
มาตรา 204 ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด เพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้อง เตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้ อาจคำนวณนับได้โดย ปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว
มาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด มาแต่เวลาที่ทำละเมิด

ป.พ.พ. บัญญัติให้ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลยในกรณีดังต่อไปนี้
1.    ตามมาตรา 204 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือน
2.    ตามมาตรา 204 วรรคสองตอนท้าย ถ้าได้มีการบอกกล่าวกันล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้และการบอกกล่าวนั้นได้กำหนดเวลาลงได้ อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าวเมื่อครบกำหนดวันบอกกล่าวแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ลูกหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือน
3.    ตามมาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด หมายความว่าทำละเมิดเมื่อใด ลูกหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดโดยมิพักต้องเตือนเลย

2.2.2   กรณีที่ไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด
แดงกู้เงินขาวไป 10,000 บาท กำหนดชำระเงินต้นคืนในวันที่ 31 ธันวาคม 2524 ครั้นหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว แดงได้นำเงินต้นไปชำระแก่ขาว บังเอิญในวันนั้นฝนตกหนักน้ำท่วมทางที่จะไปบ้านนายขาว จนเป็นเหตุให้แดงไม่สามารถนำเงินต้นไปชำระให้ขาวได้ตามกำหนดเวลา ดังนี้จะถือว่าแดงตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะอะไร หลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีว่าอย่างไร
มาตรา 205 ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่
ป.พ.พ. มาตรา 205 บัญญัติเป็นหลักซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นซึ่งยังไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด แม้ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามเวลากำหนด ดังนี้ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังไม่ได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังได้ชื่อว่าผิดนัดไม่
ตามหลักทั่วไปในเรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้นั้น เมื่อมีลูกหนี้เกิดขึ้น คู่กรณีต่างก็มีสิทธิและหน้าที่ผูกพันซึ่งกันและกัน ลูกหนี้ย่อมมีหน้าที่ที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และต้องชำระหนี้ให้ต้องตามประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ก็มีหน้าที่ที่จะรับชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย หากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว ถ้าหนี้นั้นได้กำหนดเวลาชำระไว้ตามวันแห่งปฏิทิน หรือหนี้ที่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้ อาจคำนวณกันได้โดยปฏิทินนับแต่เวลาที่ได้บอกกล่าว และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด โดยมิพักต้องเตือนเลย กรณีที่ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องเป็นพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในการที่ตนไม่ชำระหนี้ตามกำหนดนั้น แต่ถ้าการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา สืบเนื่องมาจากพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบแล้ว ลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่
ตามอุทาหรณ์ การที่ฝนตกน้ำท่วมทางที่จะไปบ้านขาว จนเป็นเหตุให้แดงไม่สามารถนำเงินต้นไปชำระให้ขาวตามกำหนดนั้น เป็นเหตุสุดวิสัยเป็นพฤติการณ์ซึ่งแดงไม่ต้องรับผิดชอบ แม้แดงจะไม่ได้ชำระหนี้ให้ขาวได้ตามเวลากำหนด แดงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด

2.2.3   ผลแห่งการผิดนัดของลูกหนี้
เมื่อลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ประการใดบ้างหรือไม่
มาตรา 215 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์ อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อ ความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได
มาตรา 216 ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ และจะเรียก เอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้
มาตรา 217 ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่ เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้อง รับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะอุบัติเหตุ อันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้น ถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง
มาตรา 218 ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้    เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิด ชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นจะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้น แล้วและ เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้
มาตรา 219 ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับ ผิดชอบนั้นไซร้ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถ จะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การ ชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น
มาตรา 220 ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตน กับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็น ความผิดของตนเองฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่ง มาตรา 373 หาใช้บังคับ แก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่
มาตรา 221 หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ย ในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่
มาตรา 222 การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระ หนี้นั้น
เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือ ควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว
มาตรา 223 ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใด อย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัย พฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้น เพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร
วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะ มีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตราย แห่งการเสียหาย อันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือ เพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่ง มาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด ร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดย อาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้
มาตรา 225 ถ้าลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุ อันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัดก็ดี หรือวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัดก็ดี ท่านว่า เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่จะต้องใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็ได้ วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่ลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำเพราะวัตถุนั้นเสื่อมเสียลงในระหว่างเวลา ที่ผิดนัดนั้นด้วย
1.    เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่การนั้นได้ (มาตรา 215)
2.    โดยเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัด การชำระหนี้นั้นกลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิบอกปัดไม่รับชำระหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ (มาตรา 216)
3.    ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหาย บรรดาที่เกิดแก่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัดนั้นด้วยเงิน แต่ความเสียหายนั้นถึงแม้ตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนด ก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั้นเอง (มาตรา 217)
4.    สำหรับหนี้เงินในระหว่างที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่เจ้าหนี้อาจเรียกได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 224)
5.    กรณีที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน เพื่อราคาวัตถุอันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัด หรือวัตถุไม่อาจส่งมอบได้ในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในจำนวนค่าสินไหมทดแทนนับแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้น (มาตรา 225)

ในกรณีหนี้เงิน เมื่อลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ประการใดบ้าง
หนี้เงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 224 บัญญัติหลักเกณฑ์ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในระหว่างผิดนัดดังนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยให้สูงกว่านั้นก็ได้ โดยอาศัยเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ได้ แต่ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเสมือนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดและให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความเสียหายอย่างอื่น นอกจากดอกเบี้ยดังกล่าวมาแล้ว
การเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนี้ เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์และไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงว่าลูกหนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดเพราะกฎหมายถือว่าหนี้เงินนั้น เมื่อผิดนัดชำระ เจ้าหนี้ย่อมเสียหายและกำหนดค่าเสียหายไว้เป็นการแน่นอนตายตัว คือคิดให้เป็นดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

เขียวยืมรถยนต์ขาวไปใช้ในวันแต่งงานของดำน้องชาย เมื่องานแต่งงานเสร็จสิ้นลงเขียวได้นำรถยนต์เก็บไว้ในโรงรถ ต่อมาอีก 2 วัน ไฟฟ้าช๊อตไหม้บ้านและโรงรถของเขียวเป็นเหตุให้รถยนต์ของขาวถูกไฟไหม้เสียหายทั้งคันไปด้วย เขียวต้องรับผิดชอบใช้ราคารถยนต์ให้แก่ขาวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ป.พ.พ. มาตรา 217 บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแก่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้น ถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง และตามมาตรา 203 วรรคแรกบัญญัติว่า ถ้าเวลาวันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ตามอุทาหรณ์แม้หนี้จะไม่กำหนดระยะเวลาเอาไว้ คือไม่ได้กำหนดเวลาตามปฏิทินที่จะคืนรถยนต์ให้ขาว แต่พอจะอนุมานได้ตามพฤติการณ์ว่า เมื่องานแต่งงานของดำเสร็จ เขียวจะต้องคืนรถยนต์ให้ขาว คือเท่ากับว่าหนี้คือรถยนต์ได้กำหนดเวลาชำระไว้เป็นการแน่นอนแล้ว ฉะนั้นเมื่อเขียวได้ส่งรถยนต์คืนให้ขาวภายหลังจากแต่งงานเสร็จสิ้นแล้ว เขียวตกเป็นผู้ผิดนักตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคสอง แม้ต่อมาจะเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้บ้าน โรงรถ ที่ใช้เก็บรถและไหม้รถยนต์เสียหายหมดก็ตาม เขียวย่อมต้องรับผิดชอบใช้ราคารถยนต์ให้แก่ขาวตามมาตรา 217

2.2.4   กรณีที่ถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัด
เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดในกรณีใดบ้าง
มาตรา 207 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับ ชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 208 การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะ ต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง
แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชำระหนี้ก็ดี หรือเพื่อ ที่จะชำระหนี้จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้ พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอ แล้ว ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าคำบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคำของ ปฏิบัติการชำระหนี้
มาตรา 209 ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำ การอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อ เจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด
มาตรา 210 ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมื่อเจ้าหนี้ ชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัตินั้นแล้วก็ดี หากไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงต้องทำเจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด

เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดได้ใน 2 กรณีคือ
1)   ตามมาตรา 207 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
2)   มาตรา 210 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้จำต้องชำหนี้ส่วนของตนต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่เขาพึงต้องทำเจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด
ตามมาตรา 207 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผิดนัด เพราะไม่รับชำระหนี้ การไม่รับชำระหนี้ ก็คือการไม่ยอมรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ การขอปฏิบัติการชำระหนี้จะต้องเป็นการขอชำระหนี้ได้ในขณะที่ขอชำระหนี้
ตามมาตรา 210 เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทน คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ในเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่เสนอชำระหนี้ตอบแทน ฝ่ายนั้นก็เป็นผู้ผิดนัด การผิดนัดมีได้ทั้งสองฝ่าย การขอปฏิบัติการชำระหนี้จะต้องอยู่ในฐานะพร้อมที่จะชำระหนี้ได้อย่างจริงจังเจ้าหนี้จะตกเป็นผู้ผิดนัด

2.2.5   ข้อยกเว้นที่ไม่ถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัด
มีกรณีใดบ้างที่ไม่ถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 211 ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นก็ดี หรือในเวลาที่กำหนดไว้ให้เจ้าหนี้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยกรณีที่บัญญัติ ไว้ใน มาตรา 209 นั้นก็ดี ถ้าลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ยังหาผิดนัดไม่
มาตรา 212 ถ้ามิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ก็ดี หรือถ้าลูกหนี้มี สิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนดก็ดี การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้อง ชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้นั้น หาทำให้ เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าวการชำระหนี้ ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันสมควร
มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะ ร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิด ช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้ เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับ ให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้อง ให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และ ให้จัดการอัน ควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่ง ถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่

มีอยู่ 2 กรณี ที่ไม่ถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด คือ
1)   ลูกหนี้ไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้อย่างจริงจัง ซึ่งมาตรา 211 บัญญัติว่าในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ หรือในเวลาที่กำหนดไว้ให้เจ้าหนี้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 ถ้าลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ยังหาผิดนัดไม่
ในการขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น ลูกหนี้ต้องอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้อย่างจริงจัง คือพร้อมที่จะชำระหนี้ที่ผูกพันตนอยู่และสามารถที่จะชำระหนี้ได้ในทันที เมื่อลูกหนี้พร้อมชำระหนี้และขอปฏิบัติการชำระหนี้แล้ว ถ้าเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด หากลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยตนไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ แม้เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่ผิดนัด
กรณีตามมาตรา 209 ก็เช่นเดียวกัน แม้จะกำหนดเวลาแน่นอนให้เจ้าหนี้กระทำการใดแล้วเจ้าหนี้ไม่กระทำตามกำหนด หากปรากฏว่าในเวลาที่กำหนดไว้ ลูกหนี้ยังไม่อยู่ในฐานะพร้อมที่จะชำระหนี้ได้แล้ว แม้จะมีการขอปฏิบัติการชำระหนี้ เจ้าหนี้ยังไม่ผิดนัด
2)   เจ้าหนี้มีเหตุชั่วคราวที่จะไม่รับชำระหนี้ ซึ่งมาตรา 212 บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ หรือถ้าลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนกำหนดเวลากำหนดก็ดี การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าวการชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันควร
ถ้าหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหรือมีกำหนดเวลาชำระ แต่กำหนดเวลามีไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนด หนี้ทั้งสองประการนี้ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยพลัน หรือจะชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ เจ้าหนี้ไม่มีโอกาสรู้ตัวล่วงหน้าว่าลูกหนี้จะชำระหนี้เมื่อใด ฉะนั้นหากลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ในเวลาที่เจ้าหนี้มีเหตุจำเป็นชั่วคราว ไม่อาจจะรับชำระหนี้ได้  เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ด้วยเหตุขัดข้องดังกล่าว เจ้าหนี้ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด แต่ถ้าลูกหนี้ได้บอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะขอปฏิบัติการชำระหนี้ในเวลาอันกำหนดแน่นอนซึ่งเป็นเวลาที่ให้โอกาสเจ้าหนี้ก็ถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

2.2.6   ผลแห่งการผิดนัดของเจ้าหนี้
เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากความรับผิดอะไรบ้าง อธิบาย ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากหนี้หรือไม่เพราะเหตุใด
เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 มีผลให้ ลูกหนี้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในหนี้เงินตามมาตรา 221 และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ในบรรดาความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น ตามมาตรา 330 บรรดาความรับผิดชอบคือ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากการชำระหนี้ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามมาตรา 215 ไม่ต้องรับผิดชอบถ้าการชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ ตามมาตรา 216 ไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเกิดการเสียหายแก่ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้โดยมิใช่ความผิดของลูกหนี้ตามมาตรา 217 เมื่อเจ้าหนี้ผิดนัด ลูกหนี้ไม่รับผิดชอบเฉพาะค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้เท่านั้น ส่วนหนี้ที่ต้องชำระแก่กันมีอยู่อย่างไร ลูกหนี้ยังรับผิดชอบชำระให้แก่เจ้าหนี้อยู่ หากลูกหนี้ประสงค์ที่จะหลุดพ้นจากหนี้ ต้องจัดการวางทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ตามมาตรา 331 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี  หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้
มาตรา 330 เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ก็เป็นอันปลดเปลื้องไป นับแต่ เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น
มาตรา 331 ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็น วัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุด พ้นจากหนี้ได้ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่ สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัว เจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็น ความผิดของตน

2.3    การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์แห่งหนี้
1.    การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์แห่งหนี้ นั้นคือกรณีลูกหนี้ได้กระทำการชำระหนี้ไม่ถูก ต้องครบถ้วนตามหน้าที่ที่ต้องกระทำ คือ ชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน ชำระหนี้ชำรุดบกพร่อง ชำระหนี้ล่าช้าเกินกำหนดเวลา หรือชำระหนี้ผิดสถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้
2.    เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นได้

มาตรา 320 อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่
มาตรา 321 ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการ ชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอแก่ใจเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใด อย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านมิให้ สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้
ถ้าชำระหนี้ด้วยออก-ด้วยโอน-หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงิน หรือ ประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวน สินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว
มาตรา 322 ถ้าเอาทรัพย์ก็ดี สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกก็ดี หรือสิทธิอย่างอื่นก็ดี ให้แทนการชำระหนี้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องรับ ผิดเพื่อชำรุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย
มาตรา 323 ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าบุคคลผู้ชำระหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ใน เวลาที่จะพึงส่งมอบ
ลูกหนี้จำต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้ด้วยความระมัดระวัง เช่นอย่าง วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น
มาตรา 324 เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะ พึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อ ให้เกิดหนี้นั้นส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้

2.3.1   การชำระหนี้ผิดวัตถุแห่งหนี้
การชำระหนี้ผิดวัตถุแห่งหนี้ จะเข้าใจว่าอย่างไร อธิบาย
การชำระหนี้ผิดวัตถุแห่งหนี้คือ การชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือการชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 320 แต่ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ก็ย่อมใช้ได้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไปตามมาตรา 321 ถ้าเอาทรัพย์ สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกหรือสิทธิอย่างอื่นให้แทนการชำระหนี้ลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย ตามมาตรา 322 ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันได้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลผู้ชำระหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาที่จะส่งมอบตามมาตรา 323 ถ้าหากชำระหนี้ฝ่าฝืนมาตรา 320 321 322 และ 323 ย่อมถือว่าเป็นการชำระหนี้ผิดวัตถุแห่งหนี้

2.3.2   การชำระหนี้ล่าช้าผิดเวลา
การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้าผิดเวลานั้น ลูกหนีจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าหนี้เสมอไปหรือไม่ เพราะเหตุใด
การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้าผิดเวลานั้น เป็นการไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ การชำระหนี้ล่าช้าบางกรณี ก็ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย บางกรณีก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ทั้งนี้สุดแล้วแต่เวลาที่กำหนดให้ชำระหนี้นั้นเป็นสาระสำคัญหรือไม่ ถ้าไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย เจ้าหนี้จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากลูกหนี้ไม่ได้ ฉะนั้นการชำระหนี้ล่าช้าผิดเวลานั้น ลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าหนี้เสมอไป

2.3.3   การชำระหนี้ผิดสถานที่
แดงมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอุดรธานี ทำสัญญาซื้อรถยนต์ของขาวซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าในเวลาที่แดงกับขาวตกลงกันซื้อขายรถยนต์คันนั้น รถยนต์ของขาวอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีเพราะจ้างช่างซ่อมเครื่องยนต์ที่นั่น ขาวจะต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่แดง ณ สถานที่ใดจึงจะเป็นส่งมอบโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อ้างหลักกฎหมายประกอบ
การชำระหนี้ผิดสถานที่ก็เป็นการชำระหนี้ ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ประการหนึ่ง ซึ่งมาตรา 324 บัญญัติเป็นหลักกฎหมายไว้ว่า เมื่อมิได้แสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้น ได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่นท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้
ตามอุทาหรณ์จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏการซื้อขายรถยนต์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และตามข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า แดงกับขาวได้ตกลงให้ส่งมอบรถยนต์กันที่ไหนโดยเฉพาะ ฉะนั้นจะต้องส่งมอบรถยนต์กัน ณ สถานที่ซื้อรถยนต์ได้อยู่ในเวลาเมื่อได้ตกลงซื้อขายกัน ดังนั้น นายขาวจะต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายแดง ณ สถานที่รถยนต์ได้อยู่ในเวลาที่ตกลงซื้อขายกัน คือจังหวัดนนทบุรี

2.4    การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย
1.    การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อาจเป็นเพราะลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย
2.    การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย อาจเป็นเพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้สูญหายหรือถูกทำลายไป อาจเป็นเพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ได้โอนไปจากลูกหนี้ หรือมีกฎหมายห้ามโอนทรัพย์หรือลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้
3.    การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยนั้นอาจกลายเป็นพ้นวิสัยทั้งหมดหรือบางส่วน
4.    การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเป็นเพราะความผิดของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ
5.    การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเป็นเพราะเหตุอื่นไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้ และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ

2.4.1   เหตุที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย
เหตุที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยมีอะไรบ้าง
เหตุที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยมีอยู่หลายเหตุคือ
1.  ทรัพย์อันเป็นวัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้สูญหายหรือถูกทำลายไป เช่น ทำสัญญาขายบ้าน ขายรถยนต์ บ้านและรถยนต์ถูกไฟไหม้
2.  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จะใช้ชำระหนี้ ได้โอนหลุดมือไปจากลูกหนี้ เช่น ทำสัญญาจะขายที่ดิน แต่หลังจากทำสัญญา ที่ดินถูกเจ้าหนี้ยึดเอาไปขายทอดตลาด
3.  มีกฎหมายออกมาห้ามโอนทรัพย์ที่จะใช้ชำระหนี้ เช่น ทำสัญญาจะขายข้าวออกนอกประเทศ ทำสัญญาแล้วมีกฎหมายออกมาห้ามนำข้าวออกนอกประเทศ
4.  ลูกหนี้เป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ เช่น ทำสัญญาจะไปร้องเพลง แต่ต่อมาลูกหนี้กลายเป็นใบ้ไม่สามารถจะร้องเพลงได้
นอกจากกรณีดังกล่าวแล้วอาจมีเหตุอื่นที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยได้

2.4.2   การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ต้องรับหนี้
หมีทำสัญญาร้องเพลงในไนต์คลับแห่งหนึ่ง ก่อนถึงกำหนดจะไปร้องเพลง หมีขับรถยนต์ชนกับราวสะพานโดยประมาทจนเป็นเหตุให้หมีบาดเจ็บสาหัส ปากเบี้ยว ไม่สามารถจะร้องเพลงได้ตามสัญญา หมีจะหลุดพ้นจากการชำระหนี้หรือไม่ ให้ยกหลักกฎหมายขึ้นมาประกอบ
มาตรา 218 บัญญัติเป็นหลักกฎหมายไว้ว่า ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้    เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่การไม่ชำระหนี้นั้น
ตามอุทาหรณ์ หมีขับรถยนต์ไปชนราวสะพานโดยประมาท เป็นเหตุให้หมีได้รับบาดเจ็บสาหัส ปากเบี้ยวไม่สามารถร้องเพลงได้ตามสัญญา การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เป็นเพราะความผิดของหมีที่ขับรถยนต์ประมาท หมี่ไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้ แต่เนื่องจากหมีไม่มีทางจะชำระหนี้ให้ได้เพราะตนเองกลายเป็นคนไร้ความสามารถจะชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ได้แต่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้เท่านั้น ถ้าไนต์คลับเสียหายคิดเป็นเงินได้เท่าใดในการที่หมีไปร้องเพลงไม่ได้ตามสัญญา ไนต์คลับก็เรียกร้องเอาเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวได้จากหมี

2.4.3   การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยทั้งหมดหรือบางส่วน
ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน เจ้าหนี้จะไม่รับชำระหนี้ในส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้น ได้หรือไม่ และแตกต่างกับการเป็นพ้นวิสัยทั้งหมดอย่างไร
ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน เจ้าหนี้จะไม่รับชำระหนี้ในส่วนที่เป็นวิสัยจะทำได้นั้นได้หรือไม่ มาตรา 218 วรรคสองบัญญัติเป็นหลักกฎหมายไว้ว่า ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้น แล้วและเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้
ตามหลักกฎหมายดังกล่าว ถ้าการชำระหนี้การเป็นพ้นวิสัยทั้งหมดถือเท่ากับว่าไม่มีการชำระหนี้ และเจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ชำระหนี้ไม่ได้ เพราะทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ไม่มีอยู่แล้วหรือบุคคลที่จะชำระหนี้กลายเป็นผู้ไม่สามารถจะชำระหนี้ไม่ได้ เพราะทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ไม่มีอยู่แล้วหรือบุคคลที่จะชำระหนี้กลายเป็นผู้ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้  เจ้าหนี้มีสิทธิจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ได้เท่านั้น แต่ถ้าหากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยบางส่วน และส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้ในส่วนที่ยังเป็นวิสัยอยู่นั้น และเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเหมือนดังว่าไม่มีการชำระหนี้ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้บางส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะได้ทั้งที่ไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็ทำได้แต่มีสิทธิเรียกค่าเสียไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ได้ แต่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเหมือนดังไม่ชำระหนี้เสียเลยไม่ได้
เจ้าหนี้มีสิทธิไม่รับชำระหนี้บางส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้น ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้ต้องไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ถ้าไม่ไร้ประโยชน์เจ้าหนี้ต้องรับชำระหนี้ แต่ก็มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหายอันเกิดจากการชำระหนี้ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ได้

2.4.4   การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด
ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ จะถือได้เสมอไปหรือไม่ว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
มาตรา 219 บัญญัติเป็นหลักกฎหมายไว้ว่า ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
ตามอุทาหรณ์ แม้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ลูกหนี้ก็ไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้เสมอไป ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ พฤติการณ์นั้นต้องเป็นพฤติการณ์ซึ่งจะโทษลูกหนี้ไม่ได้หรือเป็นพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังได้ก่อหนี้ เป็นพฤติการณ์ซึ่งจะโทษลูกหนี้ได้หรือซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบแล้ว ลูกหนี้หาหลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่

2.4.5   ลูกหนี้ตกเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้
มาตรา 219 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยนั้น ฉะนั้น จะเข้าใจได้ว่าอย่างไร
ที่มาตรา 219 วรรคสองบัญญัติว่า ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น หมายความว่าพฤติการณ์อย่างหนึ่งที่กฎหมายถือว่าเทียบเท่ากับการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้คือพฤติการณ์ที่ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วคือ ขณะก่อหนี้ ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ แต่ภายหลังก่อหนี้มีพฤติการณ์ที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนี้ที่ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้จะต้องเป็นหนี้อันมีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำของตัวลูกหนี้เอง พฤติการณ์ที่ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้นี้ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากการไม่ชำระหนี้ ต้องเป็นพฤติการณ์ที่จะโทษลูกหนี้ไม่ได้หรือที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นพฤติการณ์ที่จะโทษลูกหนี้ได้หรือที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบแล้ว ลูกหนี้ก็หาหลุดพ้นจากการไม่ชำระหนี้ไม่

แบบประเมินผลตนเองหน่วยที่ 2

1.    กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปในเรื่องเวลาจะพึงชำระหนี้ของลูกหนี้ไว้คือ (ก) ถ้าเวลาอันพึงชำระหนี้ได้กำหนดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน หนี้นั้นย่อมถึงกำหนดตามตามวันที่ที่ได้ตกลงกันไว้ (ข) ถ้ามีพฤติการณ์พอจะอนุมานได้ว่าหนี้ถึงกำหนดเมื่อใด กำหนดเวลาชำระหนี้จะต้องเป็นไปตามที่พึงอนุมานได้นั้น (ค) ถ้าเวลาอันพึงชำระหนี้มิได้กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันและลูกหนี้ย่อมชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้โดยพลันดุจกัน
2.    แดงกู้เงินขาวไป 10,000 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524 กำหนดใช้เงินกู้คืนภายใน 1 ปี ขาวจะเรียกให้แดงชำระเงินคืนได้เมื่อใดและแดงจะชำระเงินคืนให้ขาวได้เมื่อใด คำตอบ แดงจะชำระเงินคืนให้แก่ขาวได้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2525 แต่ขาวจะเรียกให้แดงชำระเงินคืนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2525 ไม่ได้
3.    นาง ก ขอยืมสร้อยคอมุกจาก นาง ข เพื่อใส่ไปงานเลี้ยงส่งผู้ว่าราชการจังหวัด ในวันที่ 10 กรกฎาคม เมื่อพ้นกำหนดงานเลี้ยงส่งแล้ว นาง ข ทวงสร้อยคอมุกโดยให้นาง ก คืนสร้อยไข่มุกแก่นาง ข ภายในวันที่ 20 กรกฎาคม ครบกำหนด นาง ก ก็ยังไม่คืนสร้อยไข่มุกให้นาง ข  ดังนั้นนาง ก ผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด คำตอบ  เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม
4.    ก ขับรถยนต์ชน ข โดยประมาทเป็นเหตุให้ ข ได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2524 ข จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ก ได้ตั้งแต่เมื่อใด คำตอบ  ข ฟ้องร้องเรียกได้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2524
5.    นายสวัสดิ์ขอยืมชามสังคโลกจากนายกิติ เพื่อไปโชว์ในงานแสดงสินค้า กำหนดส่งคืนในวันที่ 11 ธันวาคม 2524 ครบกำหนดนายสวัสดิ์ผิดนัดไม่ส่งคืน ต่อมาอีก 10 วัน นายสวัสดิ์ทำชามสังคโลกแตก ดังนี้ นายสวัสดิ์จะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราเท่าไร คำตอบ   อัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2524
6.    นายมากู้เงินนายมีไป 50,000 บาท กำหนดใช้คืนในวันที่ 5 ธันวาคม 2523 กรณีต่อไปนี้ที่ถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดคือ นายมานำเงิน 50,000 บาท ไปชำระให้นายมีในวันที่ 5 ธันวาคม 2523 แต่นายมีไม่ยอมรับอ้างว่าจะเดินทางไปต่างจังหวัดในขณะนั้น นำเงินไปฝากธนาคารไม่ทันและที่บ้านก็ไม่มีที่เก็บรักษาเงิน
7.    ก ทำสัญญาขายข้าวแก่นาย ข จำนวน 1,000 กระสอบ ราคากระสอบละ 500 บาท ต่อมา ก ไม่สามารถส่งมอบข้าวสารตามสัญญาแก่ ข เพราะภายหลังทำสัญญาแล้ว ราคาข้าวสารแพงขึ้นถึงกระสอบละ 2,000 บาท ดังนี้ ก จะต้องรับผิดต่อ ข หรือไม่ คำตอบ  ก ต้องรับผิดต่อ ข เพราะราคาข้าวสารแพงขึ้นผิดปกติ ไม่เป็นเหตุให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย
8.    ก ซื้อน้ำตาลจาก ข 2 กระสอบ ถึงกำหนดส่งมอบ ข นำข้าวสาร 2 กระสอบไปส่งที่บ้านของ ก แต่ ก ไม่อยู่  ค. ภรรยาของ ก อยู่บ้าน รับข้าวสาร 2 กระสอบไว้  ต่อมา ก กลับมาบ้าน ค บอก ก ว่า ข เป็นคนนำข้าวสาร 2 กระสอบมาส่งให้ ก ไม่ว่าอะไร ให้ ค ใช้ข้าวสารดังกล่าวหุงรับประทานได้ดังนี้ ก จะเรียกให้ ข ส่งมอบน้ำตาล 2 กระสอบให้แก่ตนอีกได้หรือไม่  คำตอบ จะเรียกให้ ข ส่งมอบน้ำตาลอีกไม่ได้ เพราะตามพฤติการณ์เป็นที่แน่ชัดว่า ก ยอมรับข้าวสารแทนการส่งมอบน้ำตาล หนี้การส่งมอบน้ำตาลให้ระงับแล้ว
9.    ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้จะถือได้เสมอไปหรือไม่ว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น คำตอบ  จะถือเช่นนั้นทุกกรณีเสมอไปไม่ได้ เพราะการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยนั้นเมื่อไม่ใช่ความผิดของของลูกหนี้ ลูกหนี้จึงจะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ ถ้าเป็นความผิดของลูกหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่หลุดพ้น แต่ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยในระหว่างผิดนัด แม้จะไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้

10. ก จ้าง ข ให้วาดภาพตัว ก เพราะ ข เป็นช่างวาดฝีมือดีและมีชื่อเสียง ทำสัญญาจ้างเสร็จแล้ว ยังไม่ทันวาดภาพให้ ก ข ได้ขับรถยนต์ไปชนกับรถยนต์ของผู้อื่นโดยประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์ของ ข คว่ำ ข ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องตัดแขนขวาทิ้ง ซึ่งเป็นแขนที่ ข จะต้องใช้วาดภาพ ข จึงกลายเป็นคนที่ไม่สามารถจะชำระหนี้คือวาดภาพให้ ก ได้ ดังนี้ ข จะต้องรับผิดชอบต่อ ก หรือไม่ คำตอบ ข ต้องผิดชอบเพราะการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะความผิดของ ข เอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น